Labelexpo Southeast Asia 2018 ที่สุดของงานอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

Labelexpo Southeast Asia 2018 ที่สุดของงานอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย



“ทาร์ซัส กรุ๊ป” ผู้จัดงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ฉลากและบรรจุภัณฑ์ระดับโลก ขยายฐานงานสู่ประเทศไทยเพื่อเจาะตลาดอาเซียน หลังพบอุตสาหกรรมด้านการพิมพ์โต 6-7 % มีประชากรในภูมิภาคกว่า 646 ล้านคน มุ่งเป้าไทยที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ผนึกกำลัง “เอเชียเอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส” ผู้จัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ จัดงานแสดงสินค้าและการประชุมเชิงวิชาการ Labelexpo Southeast Asia 2018 วันที่ 10 – 12 พ.ค. 2561 ณ ไบเทค บางนา คึกคักด้วยบริษัทชั้นนำ แบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมด้านการพิมพ์ทั่วโลก 200 ราย นำเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ โซลูชั่นบรรจุภัณฑ์และฉลากรุ่นล่าสุด นวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมงานสัมมนาที่มีประโยชน์ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และ Workshop ที่น่าสนใจตลอดทั้งสามวัน

นางลิซ่า มิลเบิร์น กรรมการผู้จัดการ Labelexpo Global Series บริษัทาร์ซัส ผู้จัดงานแสดงการพิมพ์ฉลากและบรรจุภัณฑ์ระดับโลก เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ที่ประกอบด้วย 10 ประเทศมีความน่าสนใจอย่างสูง ในภูมิภาคนี้มีประชากรกว่า 640 ล้านคน ความหลากหลายและพลวัตรทางเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่ต่างกัน ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโต ได้แก่ การลงทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น การมีประชากรในวัยหนุ่มสาว และคนชั้นกลางที่มีกำลังบริโภคเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าภูมิภาคนี้ มีการเติบโตของอุตสาหกรรมงานพิมพ์ฉลากราว 6-7%

"เราคัดเลือกสถานที่การจัดงานอย่างรอบคอบ และหลังจากใช้ระยะเวลาหลายเดือนในการศึกษาแล้ว เรามีความยินดีที่จะใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานใหม่ครั้งนี้ และเป็นอีกงานหนึ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานของ The Labelexpo series ของเรา โดยงาน Labelexpo Southeast Asia จะเป็นคำตอบที่สนองตอบต่อความต้องการของตลาดในภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี" นางลิซ่า กล่าว

ทางด้านนาง Jade Grace ผู้อำนวยการโครงการ Labelexpo Southeast Asia กล่าวว่า "เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้นำแบรนด์ Labelexpo มาจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทยและเป็นครั้งแรก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประชากรมากกว่า 646 ล้านคนและการเติบโตของการบริโภคฉลาก 6-7% ทำให้มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก งาน Labelexpo Southeast Asia ในไทยจะรวมเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ฉลากและบรรจุภัณฑ์ของบริษัทใหญ่ทั่วโลกมาจัดแสดงให้ผู้ประกอบการไทยได้ชม เลือกซื้อ ร่วมเจรจาธุรกิจ งานแสดงสินค้าถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการจัดหาคู่ค้าใหม่ ๆ ซึ่งจะสามารถช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถ ปรับปรุงผลกำไร เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพให้เติบโตขึ้นและก้าวล้ำนำหน้าในธุรกิจของตนจากคู่แข่งได้ "


ด้านผู้ร่วมจัดงานแสดงในงานครั้งนี้มี กว่า 200 ราย ได้แก่ : HP, AVT, Bobst, Epson, Flint Group, GEW, IST Metz, Konica Minolta, Lintec, Mark Andy, Martin Automatic, Nilpeter, OMET, Rotometrics, Thai KK, Thai Paper, UPM Raflatac, Xeikon, Zhejiang Weigan
มีบริษัททั่วโลกที่เข้าร่วมงานจากประเทศต่างๆ ดังต่อไปนี้: ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิสราเอล, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย , เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, สวิตเซอร์แลนด์, ไต้หวัน, ไทย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อังกฤษ, และสหรัฐอเมริกา

ด้านนายเดวิด เอ็ทคิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ร่วมกับผู้จัดงาน Labelexpo Southeast Asia 2018 ในการนำงานแสดงสินค้าด้านอุตสาหกรรมงานพิมพ์ฉลากและบรรจุภัณฑ์ชั้นนำของโลกมาจัดในกรุงเทพฯ และด้วยการทำงานกันอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคนี้ การใช้ประสบการณ์และความเป็นพันธมิตรที่มีอย่างกว้างขวางของบริษัทฯ จะนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดของงานมานำเสนอ พร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม ทำให้มั่นใจได้ว่างานนี้จะประสบผลสำเร็จ ล่าสุดได้รับการตอบรับของตัวแทนจากบริษัทนานาชาติ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 ราย และจะเป็นการปักธงงานในระยะยาว โดยมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางสำหรับตลาดภูมิภาคตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหมาะสมที่สุด

งานแสดงสินค้าและการประชุมเชิงวิชาการ Labelexpo Southeast Asia 2018 วันที่ 10 – 12 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ จุดมุ่งหมาย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพบปะเจรจาธุรกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านการพิมพ์ฉลากสินค้า และพิมพ์ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งผู้จัดงานคาดว่า จะมีผู้สนใจเข้าชมงานจากไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย โดยได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม งานดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่การจัดงานกว่า 8,000 ตร.ม.และมีผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมทั่วโลกกว่า 200 ราย

นอกเหนือจากพื้นที่จัดแสดงที่มีการสาธิตการใช้งานเครื่องจักรและการเปิดตัวผลิตภัณฑ์หลากรุ่นสำหรับตลาดเอเชีย Labelexpo Southeast Asia ยังเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้กับผู้สนใจ โดยผู้ชมงานสามารถเข้ารับฟังการประชุมในหัวข้อต่าง ๆ หรือลงทะเบียนเข้าร่วมเวิร์คช็อปสองรายการพิเศษที่จัดขึ้นร่วมกับ Label Academy โดยครอบคลุมประเด็นเรื่องเทคโนโลยี shrink sleeve งาน Die-cut และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

นายเดวิด กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์ที่ร่วมแสดงในงานมีมากมาย จะเป็นผลิตภัณฑ์รุ่นล่าพร้อมการสาธิต อาทิ งานพิมพ์แบบคอนเว็นชั่นนอล (ใช้แรงกด) และแบบดิจิตอลวัสดุไฮเทคสำหรับผลิตภัณฑ์ฉลากและบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีก่อนกระบวนการพิมพ์และการทำเพลท ระบบงานทำสำเร็จและงานแปรรูป ตรวจสอบงานพิมพ์ การพิมพ์ทับ การติดฉลาก เครื่องไดคัท เครื่องตัด เครื่องม้วน หมึกพิมพ์และสารเคลือบ โซลูชั่นความปลอดภัยและอาร์เอฟไอดี ซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีอินเตอร์แอ๊คทีฟ

นางประภาพร ณรงค์ฤทธิ์ นายกสมาคมการพิมพ์สกรีนไทย เปิดเผยว่า งาน Labelexpo ในปีนี้ถือเป็นปีที่สำคัญ เพราะการจัดงานแสดงทางด้านระบบการพิมพ์สกรีนและการพิมพ์ดิจิตอลระดับโลกได้ถูกจัดขึ้นในประเทศไทย อันเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะที่สมาคมฯ เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศไทย เราจึงมีความยินดีที่จะสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้

สำหรับหน่วยงานที่สนับสนุนงานในครั้งนี้ ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน. ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และ สมาคมการพิมพ์ สกรีนไทย หรือ TSGA

ด้านสถานการณ์ภาพรวม อุตสาหกรรมด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานข้อมูล ปีนี้อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์จะเติบโต 5% และคาดว่าจะเติบโต 5% ต่อเนื่องไปอีก 3 ปีข้างหน้า โดยมูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์รวมอยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ คอสเมติก และ เครื่องสำอาง 30-40% ในอุตสาหกรรมอาหาร 10-15% และที่เหลือคืออะไหล่รถยนต์ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad