14 ปี TK park ชูแนวคิด Learning to Learn เรียนรู้ที่จะเรียน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562

14 ปี TK park ชูแนวคิด Learning to Learn เรียนรู้ที่จะเรียน

14 ปี TK park ชูแนวคิด Learning to Learn เรียนรู้ที่จะเรียน


มุ่งสร้างสังคมไทยสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมเปิดตัว "กิตติรัตน์ ปิติพานิช" ผู้อำนวยการคนใหม่ กับพันธกิจ นำ TK park ให้เติบโตท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
          อุทยานการเรียนรู้ "TK park" ครบรอบ 14 ปี ประกาศพร้อมเป็นพลังสำคัญร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ในยุค "Digital Disruption" ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ด้วยแนวคิด Learning to Learn เรียนรู้ที่จะเรียน พร้อมแถลงข่าวเปิดตัว "กิตติรัตน์ ปิติพานิช" ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้คนใหม่ล่าสุด กับพันธกิจการบริหารและพัฒนา TK park ให้เป็นอุทยานการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสวนาในหัวข้อ "ทำไมต้องเรียน รู้ที่จะเรียน" โดย แคน - นายิกา ศรีเนียน ศิลปินหญิงเดี่ยว อดีตสมาชิกวง BNK 48, ริบบิ้น-นิชาภา นิศาบดี เยาวชนในโครงการ TK แจ้งเกิด นักดนตรี พิธีกรและครีเอทีฟ และ "หนุ่มเมืองจันท์" สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง และเปิดตัว 14 แฟนพันธุ์แท้ที่ยืมหนังสือและเข้าใช้บริการอุทยานการเรียนรู้สูงสุดในปี 2561 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
          นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ "TK park" หน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภารกิจสำคัญในฐานะที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารอุทยานการเรียนรู้ TK park เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ตามแนวคิดหลักที่เราจะใช้ในการขับเคลื่อน TK park ในปีนี้ คือ Learning to Learn เรียนรู้ที่จะเรียน และวางเป้าหมายการบริหารและพัฒนาอุทยานการเรียนรู้นี้ไว้ 3 แนวทาง
          ประการแรกคือการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ต้นแบบแห่งศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการสร้างต้นแบบและกิจกรรมการเรียนรู้ด้านนวัตกรรม ก่อนจะนำไปใช้ในการพัฒนาเครือข่ายทั่วประเทศ โดยใช้ศาสตร์ของ Design Thinking & Service Design ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับไลฟ์สไตล์ประจำวันเป็นอย่างมาก แต่กระนั้นแม้ว่าสื่อ หรือ นวัตกรรมจะเปลี่ยนแปลงไป แต่การเรียนรู้ไม่มีวันตาย เพียงต้องปรับตัวให้ได้ ซึ่งนับเป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องวางแผนและทำให้การเรียนรู้เดินหน้าต่อไปอย่างไร้อุปสรรค ซึ่งกิจกรรมจะสะท้อนหลักการขององค์กร สอดคล้องกับทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งให้ TK park เป็นมากกว่าพื้นที่แห่งการเรียนรู้ นั่นคือการเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางผ่านโครงการ Solution Lab ที่จะช่วยประสานความร่วมมือและสร้างแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาในสังคม
          ประการที่สองคือการสร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้ คิดเป็น และทำเป็น ให้ขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งตามแผนของเราในปี พ.ศ. 2562 นี้ จะมีการเปิดบริการอุทยานการเรียนรู้เครือข่ายใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ และอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส และมีความร่วมมือกับท้องถิ่นในการสนับสนุนการก่อตั้ง อุทยานการเรียนรู้สุราษฎ์ธานี อุทยานการเรียนรู้บุรีรัมย์และอุทยานการเรียนรู้เบตง ซึ่งการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในภูมิภาค จะมีการพัฒนาการเชื่อมต่อ การดูแลคุณภาพ ประสิทธิภาพ โดยใช้ Digital Technology และการสร้าง Innovation Capacity ให้เครือข่ายสามารถสร้างนวัตกรรมทางการให้บริการ พร้อมเน้นพัฒนาฟังก์ชั่นและฐานข้อมูล TK Public Online Library เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการการเรียนรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งในส่วนของ TK Application ที่ได้รวบรวมหนังสือเสียง นิทานภาพ และหนังสือที่อ่านสนุกเป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงพากย์ และเกมต่างๆ
          ประการสุดท้าย คือ การสร้างแนวร่วมและเครือข่ายการอ่านการเรียนรู้ทุกภาคส่วนให้เข้มแข็ง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยในปีนี้ กิจกรรมเด่น ได้แก่ TK Forum งานเสวนาวิชาการนานาชาติ ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ ในหัวข้อเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่เรียนรู้แห่งอนาคต แนะให้แนว จัดในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้เยาวชนค้นหาตนเองก่อนการเลือกเส้นทางการเรียนในอนาคต และ ทีเคแจ้งเกิด กิจกรรมบ่มเพาะเยาวชนที่สนใจในสายดนตรีและนักเขียนเพื่อเรียนรู้และสร้างสมประสบการณ์และทักษะในวิชาชีพนั้นๆ
          "ในด้านภาพรวมของอุทยานการเรียนรู้ TK park การเรียนรู้ตลอดชีวิตยังคงเป็นปัจจัยหลักของการทำงาน แต่เราจะลงลึกไปทางด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ และการคิด ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตสำหรับทุกช่วงวัย ซึ่งปัจจุบันมีแพลต ฟอร์มและช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนเรา แน่นอนว่าในยุคสมัยนี้ เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พฤติกรรมการเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มลดลง คนหันมาเสพสื่อผ่านสมาร์ทโฟน หรือ ช่องทางการอ่านออนไลน์กันมากขึ้น แต่กระนั้นผมมองว่า การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมันจะต้องสามารถประสานรวมองค์ความรู้จากสื่อที่หลากหลายทั้งดิจิทัลและอะนาล็อค เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ฉะนั้นหัวใจของการเรียนรู้ในยุคนี้ก็คือ การรู้จักวิธีการเรียนรู้และวิธีการคิด และ นำกลับมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเราได้ดีที่สุดมากกว่าครับ" ผอ.อุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าว
          นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวเสริมว่า "ผมวางเป้าหมายสำหรับการทำงานของ TK park ไว้เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกปีนี้ เริ่มจากเรื่องการส่งเสริมทักษะและความรู้ให้กับบุคลากรขององค์กร ติดอาวุธด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการที่แตกต่างกันของคนในองค์กร รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อให้ตอบโจทย์สังคมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการปรับปรุงพื้นที่การอ่านของ TK park ชั้น 8 ในคอนเซ็ปต์ใหม่ Urban Living Room ที่ผสมผสานพื้นที่การอ่านในหลายมิติ ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการแบ่งปันพื้นที่เพื่อพบปะสังสรรค์ เรียนรู้ และทำงานร่วมกัน (Think-Pair-Share) คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ และสุดท้ายคือการหาพื้นที่ถาวรเพื่อยกระดับให้ TK park เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่อยู่คู่สังคมไทย
          ผู้อำนวยการคนใหม่ตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปี จะสามารถผลักดันให้ TK park เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ผ่าน Solution Lab และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศในอาเซียน ทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิทยากร นวัตกรรม ผ่านกิจกรรมสัมมนา เสวนานานาชาติ ประชุมวิชาการ หรือแลกเปลี่ยนคณะทำงาน เพื่อจะได้แบ่งปันความรู้สำหรับการเตรียมพร้อมประชากรสู่ศตวรรษหน้าต่อไป

          เกี่ยวกับอุทยานการเรียนรู้ TK park
          อุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 24 มกราคม 2548 ช่วง14 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าใช้บริการแล้วกว่า 6 ล้านคน มีการยืม-คืนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ประมาณ 4 แสนครั้งต่อปี ล่าสุดได้ขยายเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้เต็มรูปแบบ จำนวน 25 แห่งในพื้นที่ 19 จังหวัด เครือข่ายแหล่งเรียนรู้ชุมชน Mini TK จำนวน 20 แห่ง และผนึกกำลังกับ 7 หน่วยงานภาคี นำร่องสร้างสรรค์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน 202 แห่ง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้สาธารณะ มุ่งเพิ่มทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพชุมชนอย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad