ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล




กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดแถลงข่าวในประเด็นเรื่อง การเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะ สุโขทัย เขตสาทร กรุงเทพฯ
          โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธาน พร้อมกันนี้มีคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวง ทส. เข้าร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ
          นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. เปิดเผยว่า ขยะทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสำคัญ เนื่องจากเรากำลังเผชิญกับปัญหาขยะที่ล่องลอยจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล รวมทั้งขยะที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางทะเลต่าง ๆ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่สร้างปัญหามากมายในทั่วโลก เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ บาดเจ็บหรือเสียชีวิต สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ทำให้แนวปะการังและท้องทะเลเสื่อมโทรมลง ทำลายทัศนียภาพของชายหาดและการท่องเที่ยวของหลายประเทศ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทย
          โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้คิดริเริ่มที่จะแก้ไขปัญหาขยะทะเล ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนและส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค จึงได้หารือกับสำนักเลขาธิการอาเซียนในการสร้างความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการจัดประชุมระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียนขึ้น ระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา
          นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. กล่าวว่า ในปีพ.ศ. 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ จำนวน ๒ รายการ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris" ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะ สุโขทัย เขตสาทร กรุงเทพฯ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นความคิดริเริ่มของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 เพื่อให้อาเซียนมีเวทีในการหารือและหาแนวทางที่เป็นรูปธรรมด้านการต่อสู้กับขยะทะเลและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและภาคีผู้สนับสนุน เพื่อจัดการกับปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคอย่างสอดคล้องกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานะของขยะทะเลและความคิดริเริ่มของประเทศสมาชิกอาเซียนด้านมลพิษจากขยะทะเลในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
          ในช่วงที่ผ่านมา กรม ทช. ได้จัดประชุมเพื่อจัดทำร่างเอกสารผลลัพธ์สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ ด้านขยะทะเล ซึ่งเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าวมี 2 ฉบับ กล่าวคือ 1) ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการที่จะบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในภูมิภาค และ 2) กรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเลเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งมีรายละเอียดและแนวทางการปฏิบัติที่จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งด้านการวางนโยบายการบริหารที่จะช่วยลดปริมาณขยะทะเล การถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และบทบาทจากการที่แต่ละประเทศได้ดำเนินการให้กับสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ความร่วมมือจากภาคเอกชนที่จะพัฒนานวัตกรรมหรือการนำกลับไปใช้ใหม่ของผลิตภัณฑ์เพื่อลดปริมาณขยะโดยเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะถูกนำเสนอเพื่อขอการรับรองในการประชุมระดับผู้นำอาเซียนในเดือนมิถุนายนนี้
          นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. กล่าวอีกว่า หลังจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเลแล้วเสร็จ เชื่อว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะสามารถพัฒนากรอบหรือแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลในระดับภูมิภาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทะเลไม่มีอาณาเขตกั้น ทำให้มลพิษที่เกิดจากแผ่นดินหรือแม้แต่ในทะเลเองสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง การบริหารจัดการเพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนต้องดำเนินการที่สอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น ในเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมในครั้งนี้ จะมีการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อการบริหารจัดการขยะทะเลโดยเฉพาะ รวมทั้งผลักดันให้ทุกประเทศในอาเซียน มีแผนปฏิบัติการในระดับประเทศและมีการติดตามผลเป็นระยะ ๆ เพื่ออาเซียนจะได้ก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad