“พาณิชย์”ดึงเอกชน ไปรษณีย์ ห้าง เซเว่นฯ ซื้อทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย ไปขาย รับมือผลไม้ออกมาก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

“พาณิชย์”ดึงเอกชน ไปรษณีย์ ห้าง เซเว่นฯ ซื้อทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย ไปขาย รับมือผลไม้ออกมาก


img
“พาณิชย์”เตรียมแผนรับมือผลไม้ออกสู่ตลาดปี 62 ดึงเอกชน ไปรษณีย์ ห้าง ร้านสะดวกซื้อ รับสินค้าไปขาย นำร่อง “ทุเรียน มังคุด เงาะและลำไย” ปริมาณไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท พร้อมผลักดันไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน มั่นใจยกระดับราคาให้มีเสถียรภาพได้ เผยจะนำหลักการเดียวกันนี้ใช้รับมือผลไม้ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่จะออกสู่ตลาดต่อไป

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2562 กรมฯ ได้ประชุมหารือแนวทางเตรียมการรับมือผลผลิตผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาดในปีการผลิต 2562 ร่วมกับหน่วยงานเอกชน ได้แก่ สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมผู้ประกอบการทุเรียนมังคุดแห่งประเทศไทย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะมอลล์ ท็อปส์ บิ๊กซี เทสโก้โลตัส แม็คโคร ร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น และผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เพื่อกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในด้านการส่งเสริมด้านการตลาดและการเชื่อมโยงให้เกิดการซื้อขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์จนถึงมือผู้บริโภค

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศในปี 2562 ค่อนข้างดี ส่งผลให้ผลผลิตผลไม้จะออกสู่ตลาดมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เกิดภาวะแล้ง และฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ผลผลิตในปีก่อนมีน้อย และผลไม้ราคาสูง แต่ในปีนี้ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมาก จึงต้องเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า”

นายวิชัยกล่าวว่า แนวทางการดูแลผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เบื้องต้นได้กำหนดให้เกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรดำเนินการคัดคุณภาพและบรรจุสินค้าผลไม้ 4 สินค้า ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลำไย ส่งให้กับผู้ประกอบการเอกชนข้างต้น ในปริมาณรวมไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท และยังได้วางแนวทางผลักดันผลไม้ไทยบางส่วนไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการเสริมทัพผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศให้ผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านได้รู้จักและมีโอกาสได้บริโภคผลไม้ไทยคุณภาพเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะส่งผลให้สามารถดูดซับผลผลิตออกจากแหล่งพื้นที่ผลิตได้ และส่งผลให้ระดับราคาผลไม้ที่เกษตรกรจำหน่ายได้มีเสถียรภาพ ซึ่งหากการดำเนินการดังกล่าวได้ผลดีจะดำเนินการขยายผลให้ครอบคลุมการซื้อขายผลไม้ชนิดอื่นๆ คือ ผลผลิตผลไม้ภาคเหนือ ได้แก่ ลำไย และลิ้นจี่ และภาคใต้ ลองกอง ซึ่งจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.2562 ต่อไป

“การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมรับมือสถานการณ์ผลผลิตผลไม้ทุกรูปแบบ และจะทำให้ผลไม้ของไทยยกระดับเป็นผลไม้คุณภาพ ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งสามารถเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลไม้ได้ ซึ่งส่งผลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการค้า ผู้ประกอบการแปรรูปและผู้ส่งออก ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น และเป็นการสนับสนุนประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลกตามยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจรต่อไป”นายวิชัยกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad