จุฬาฯ ใช้แก้วใหม่ลดขยะพลาสติกลงได้ 13 ตัน ต่อยอดเพาะชำกล้าไม้-จ่อเปลี่ยนหลอดปลายปี - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2562

จุฬาฯ ใช้แก้วใหม่ลดขยะพลาสติกลงได้ 13 ตัน ต่อยอดเพาะชำกล้าไม้-จ่อเปลี่ยนหลอดปลายปี


เผยผล Chula Zero Waste เปลี่ยนใช้แก้วไบโอพีบีเอสครบ 17 โรงอาหารทั่วมหาวิทยาลัย ลดขยะพลาสติกได้ 12.9 ตัน ต่อยอดนำไปใช้เพาะชำกล้าไม้ เตรียมเปลี่ยนหลอดปลายปี
นายวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการ Chula Zero Waste ว่าภายหลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนใช้แก้วกระดาษไบโอพีบีเอส (BioPBS) หรือ Zero Waste Cup แทนแก้วพลาสติก ครบทั้ง 17 โรงอาหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2561-กุมภาพันธ์ 2562) พบอัตราการใช้เฉลี่ยถึงเดือนละ 148,900 ใบ และมีการใช้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเทียบเท่าการลดขยะพลาสติกไปได้ถึง 12.9 ตัน
นายวรุณ กล่าวว่า สำหรับจุดเริ่มต้นของการนำแก้วไบโอพีบีเอสมาใช้ในโรงอาหารทั้ง 17 แห่งของมหาวิทยาลัยนั้น เป็นแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการใช้ทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นถ้านิสิตหรือบุคลากรคนใดไม่นำแก้วส่วนตัวมาเอง จะต้องจ่ายเพิ่ม 2 บาทจากราคาเดิม
ขณะเดียวกันนอกจากการลดปริมาณขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้ว ยังได้มีการต่อยอดนำแก้วไบโอพีบีเอสที่ใช้แล้วไปเป็นภาชนะทดแทนถุงเพาะชำ ซึ่งเมื่อนำกล้าไม้ลงไปเพาะปลูกแล้ว แก้วสามารถย่อยสลายได้ในดิน พร้อมมีคุณสมบัติพิเศษกลายเป็นสารปรับปรุงคุณภาพดินได้อีกด้วย โดยขณะนี้มีหน่วยงานรัฐ และสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ขอรับแก้วที่ใช้แล้วเพื่อนำไปเพาะกล้าไม้ โดยที่มหาวิทยาลัยไม่ต้องจัดส่งแก้วเข้าสู่กระบวนการทำปุ๋ยหมักที่ จ.สระบุรี เพื่อกำจัดทั้งหมด ทั้งนี้หากหน่วยงานใดต้องการนำแก้วไบโอพีบีเอสไปเพาะชำกล้าไม้ ทางมหาวิทยาลัยยินดีมอบให้ฟรีด้วยเช่นกัน
“ทางจุฬาฯ ไม่หยุดที่จะนำเอาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ในโรงอาหาร รวมถึงร้านสะดวกซื้อต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกรีไซเคิล ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา และคาดว่าปลายปีนี้จะมีการนำหลอดไบโอพลาสติกมาใช้ในโรงอาหาร ทดแทนหลอดพลาสติกเดิม ซึ่งนับว่าเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่คนไทยนิยมใช้เป็นอย่างมาก” นายวรุณ กล่าว
ด้าน น.ส.นิภาพร พูลสวัสดิ์ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 2 บาท สำหรับผู้ที่ไม่ได้นำแก้วส่วนตัวมาเองนั้นมีผลต่อนิสิตบางกลุ่ม แต่อีกบางกลุ่มก็มองว่าการต้องจ่ายเพิ่มนั้นไม่เป็นปัญหา เพราะการใช้แก้วของมหาวิทยาลัยนั้นตอบโจทย์ความสะดวกสะบายได้มากกว่าการนำแก้วส่วนตัวมาเอง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือนิสิตมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป รู้จักการคัดแยกขยะมากขึ้น
อนึ่ง แก้วกระดาษไบโอพีบีเอสดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในการพัฒนาแก้วกระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ 100% ตัวแก้วประกอบด้วย 1.กระดาษชนิดพิเศษที่สามารถย่อยสลายได้ 2.สารเคลือบไบโอพลาสติกประเภท PBS ซึ่งผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 3.หมึกพิมพ์น้ำมันถั่วเหลือง (Soy Ink) โดยแก้วแต่ละใบสามารถย่อยสลายจนหมดได้ภายใน 4-6 เดือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad