จุดจบของโรคมาลาเรียในเอเชียพลิกผันเมื่อเชื้อดื้อยาฆ่าแมลงและยารักษา - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2562

จุดจบของโรคมาลาเรียในเอเชียพลิกผันเมื่อเชื้อดื้อยาฆ่าแมลงและยารักษา


          - ผู้เชียวชาญในเอเชียหวั่นเป้าหมายในการกำจัดโรคมาลาเรียในภูมิภาคเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อดื้อยารักษามาลาเรียและยาฆ่าแมลง ดังนั้นต้องมีเครื่องมือใหม่ในการต่อสู้กับโรคมาลาเรีย

          - อุปสรรคสำคัญอีกประการในการบรรลุเป้าหมายในภูมิภาคเอเชียและเอเชียใต้คือการเข้าถึงประชากรที่ไม่ได้อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและผู้อพยพในพื้นที่ห่างไกล
          - การกำจัดโรคมาลาเรียยังขึ้นกับประเทศในภูมิภาคที่จะสร้างความรู้และความชำนาญด้านโรคมาลาเรียควบคู่ไปกับการพัฒนาการให้บริการสาธารณสุขพื้นฐาน
          ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมาลาเรียในเอเชียที่ร่วมการสำรวจในรายงานฉบับใหม่กล่าวว่ามีความจำเป็นในการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการกำจัดโรคมาลาเรียเนื่องจากเชื้อโรคมีการดื้อต่อมาตรการป้องกันและการรักษาในปัจจุบัน และเรียกร้องให้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาและวิจัยยารักษาโรคมาลาเรียและยาฆ่าแมลงตัวใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการกำจัดโรคภายในปีพ.ศ. 2573 ขององค์การอนามัยโลก
          รายงานมาลาเรียฟิวเจอร์สฟอร์เอเชียได้เปิดตัวในกรุงเทพฯ ในวันนี้ รายงานฉบับนี้แสดงมุมมองของผู้อำนวยการโครงการด้านโรคมาลาเรีย นักวิจัย และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศกัมพูชา อินเดีย เมียนมาร์ ไทยและเวียดนามเกี่ยวกับความคืบหน้าในการกำจัดโรคมาลาเรีย จัดทำโดยนักวิจัยอิสระด้านนโยบายด้วยการสนับสนุนของโนวาร์ตีส ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ผลิตขนาดยาในปริมาณคงที่ของยากลุ่มอาร์ติมิซินินที่ใช้ร่วมกับยาเมฟโฟลควิน (Artemisinin-based combination therapy - ACTs) เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว ยานี้นับได้ว่าทรงประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบันสำหรับการรักษาโรคมาลาเรีย
          รายงานฉบับนี้ถูกจัดทำในสถานการณ์ที่การกำจัดโรคมาลาเรียคืบหน้าไปมาก โดยมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อต่อพันคนลดลงกว่าร้อยละ 60 นับจากปี พ.ศ. 2553[1] ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการสำรวจเกือบสองในสามเชื่อว่าภูมิภาคเอเชียจะสามารถบรรลุเป้าหมาย[2]ในการกำจัดเชื้อมาลาเรียประเภท P. falciparum ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่ยังคงไม่มั่นใจว่าจะสามารถกำจัดมาลาเรียสายพันธุ์ P. vivax ได้ภายในปี พ.ศ. 2573
          "นับเป็นครังแรกในรอบหลายปีที่มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้วางนโยบายและผู้ปฏิบัติในพื้นที่ในเรื่องความคืบหน้า ความท้าทาย และโอกาสในการกำจัดโรคมาลาเรีย" ศ. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและหนึ่งในคณะกรรมการขององค์การนานาชาติมาลาเรียอาร์บีเอ็มเพื่อการกำจัดมาลาเรีย และประธานร่วมของการสำรวจกล่าว "ในขณะที่คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่ามีความคืบหน้าในการกำจัดโรคมาลาเรีย บางคนอาจมีความมั่นใจมากเกินไป การเพิกเฉยเป็นเรื่องอันตราย ผมต่อสู้กับโรคมาลาเรียมาเกือบทั้งชีวิตและรู้ดีว่าการต่อสู้ในขั้นสุดท้ายเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการกำจัดโรคมาลาเรีย"
          การที่เชื้อดื้อต่อยาฆ่าแมลงและยากลุ่มอาร์ติมิซินินได้ก่อให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก ผู้ร่วมการสำรวจบางคนเชื่อว่าภูมิภาคนี้จะสามารถควบคุมปัญหานี้ได้ พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายการกำจัดโรค ขณะที่บางคนกลับมีความเชื่อมั่นน้อยกว่า ทั้งนี้เกือบทั้งหมดกล่าวว่าการสนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยาฆ่าแมลงและการรักษาโรคเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันทางโนวาร์ตีสกำลังทดลองยารักษาโรคมาลาเรียเชิงคลินิกในประเทศไทยและเวียดนาม ในกรณีที่ภาวะดื้อยากลุ่มอาร์ติมิซินินนั้นแพร่กระจายไป
          ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าโรคมาลาเรียที่ยังระบาดอยู่ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ป่าที่เข้าถึงยากและประชากรที่อาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่งหรือผู้อพยพ พื้นที่เหล่านี้มักจะเป็นพื้นที่ชายแดนที่ห่างไกล ดังนั้นการเก็บข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับการวินิจฉัย การรักษาและการดูแลจึงเป็นเรื่องท้าทาย
          [1] องค์การอนามัยโลก (WHO), รายงานมาลาเรียโลก 2018 (World Malaria Report 2018) หน้า 41 สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.who.int/malaria/publications/world-malaria-report-2018/en/
          [2] กลยุทธ์ทางเทคนิคระดับโลกเพื่อการกำจัดมาลาเรียขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระหว่างปี 2559-2573 ได้นำเสนอเป้าหมายต่างๆ อาทิ ลดจำนวนการเสียชีวิตและลดจำนวนรายงานกรณีในการรักษาพยาบาลอย่างน้อยร้อยละ 90 และกำจัดมาลาเรียให้หมดไปอย่างน้อย 35 ประเทศภายในปีพ.ศ. 2573 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ www.who.int/malaria/areas/global_targets/en
/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad