กรมพัฒน์ฯ จับเข่าคุยแบงก์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาปล่อยกู้ โดยใช้ “ต้นไม้” ค้ำประกัน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562

กรมพัฒน์ฯ จับเข่าคุยแบงก์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาปล่อยกู้ โดยใช้ “ต้นไม้” ค้ำประกัน


img
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชิญแบงก์ชาติ สถาบันการเงิน กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จับเข่าคุยเพื่อแก้ปัญหา อุปสรรค ในการให้สินเชื่อ กรณีนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกัน เผยจะมีการทำคู่มือประเมินราคาต้นไม้ที่เป็นมาตรฐานกลาง บสย.พร้อมช่วยในเรื่องค้ำประกัน แบงก์รับพิจารณารับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้น ด้าน ธปท.ยันเปิดกว้างใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันได้ ล่าสุดสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ปล่อยเงินกู้โดยใช้ไม้ค้ำประกันแล้ว นำร่อง “ยูคาลิปตัส-กระถินณรงค์”
         
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน สมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย บจ.สยามฟอเรสทรี มาหารือถึงแนวทางการส่งเสริมให้มีการนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ปัญหาและอุปสรรคในการให้สินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงินกรณีนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกัน รวมทั้งหลักเกณฑ์การกันเงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย
        
ทั้งนี้ ในด้านการปล่อยสินเชื่อโดยใช้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกัน ส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาและอุปสรรคในการให้สินเชื่ออยู่ที่ความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกัน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์ วิธีการประเมิน และราคากลางที่ชัดเจน ทำให้ปล่อยสินเชื่อได้ยาก และมีความเสี่ยง เช่น การลักลอบตัดต้นไม้ เกิดไฟไหม้ ทำให้สถาบันการเงินยังไม่กล้ารับความเสี่ยงที่จะนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน แต่ก็มีข้อสรุปว่าหากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกัน จะช่วยลดความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ซึ่ง บสย. แจ้งว่าพร้อมที่จะเข้ามาค้ำประกันให้ และสถาบันการเงินจะนำเรื่องนี้รายงานต่อผู้บริหาร เพื่อให้แต่ละธนาคารกำหนดนโยบายในการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันได้
         
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมเห็นควรให้จัดทำคู่มือการประเมินราคาต้นไม้ที่เป็นมาตรฐานกลาง แบ่งการประเมินราคาต้นไม้ออกเป็นแต่ละพื้นที่ โดยให้สถาบันการเงินผู้รับต้นไม้เป็นหลักประกันถือปฏิบัติตามคู่มือการประเมิน และควรมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลประเมินราคากลางต้นไม้ โดยให้มีปรับปรุงการประเมินเป็นระยะ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมไม้โตเร็ว และภาคเอกชน โดยมีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนข้อมูล และทำการวิเคราะห์ต้นทุน ผลตอบแทนที่ได้ให้ชัดเจน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งแก่สถาบันการเงินเกษตรกร และประชาชนผู้ปลูกต้นไม้
         
สำหรับหลักเกณฑ์การกันเงินสำรองในการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน ผู้แทน ธปท. แจ้งว่า การจัดลำดับชั้นการกันเงินสำรองของ ธปท. เปิดกว้างในการรับหลักประกันอยู่แล้ว แต่สำหรับต้นไม้ที่จะใช้เป็นหลักประกัน ยังไม่ได้ระบุในระเบียบ หลักเกณฑ์ของ ธปท. โดยสถาบันการเงินที่ต้องการรับต้นไม้ที่มีค่ามาเป็นหลักประกัน สามารถประสานมาที่ ธปท.ได้ เป็นรายกรณี
        
นายวุฒิไกรกล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2562 ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา ทำให้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ ไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป สามารถดำเนินการทำไม้ ตัด โค่น เลื่อย ชุด ชักลากไม้ในป่า หรือนำไม้ออกจากป่า และเคลื่อนย้ายโดยไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมไม้ และยังมีแนวโน้มที่จะสามารถส่งออกไม้ได้เสรี หลังจากที่กรมป่าไม้อยู่ระหว่างการทบทวนการส่งออกไม้ไปจำหน่ายต่างประเทศ ไม่ให้ผูกขาดแค่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ซึ่งล้วนแต่จะส่งผลดีต่อการปลูกไม้ยืนต้น และเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศ รวมทั้งการใช้ไม้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ
        
นายพูนพงษ์ นัยยาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่นำไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจมาใช้ค้ำประกันขอกู้เงินแล้ว โดยล่าสุดในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา มีการปล่อยให้กับผู้ที่นำไม้ยูคาลิปตัสและกระถินณรงค์มาใช้ค้ำประกันแล้ว โดยให้สินเชื่อรายละ 50,000 บาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และคาดว่าน่าจะมีการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากสถาบันการเงิน
        
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 เม.ย.2562 กรมฯ จะนำคณะผู้บริหาร สถาบันการเงิน และสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานอุตสาหกรรมไม้โตเร็ว ณ โรงงานวังศาลา บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการรับไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลักประกัน
        
ปัจจุบัน (4 ก.ค.2559-23 เม.ย.2562) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 382,061 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 6,113,275 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 48.98 (มูลค่า 2,993,939 ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็นร้อยละ 27.90 (มูลค่า 1,705,911 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็นร้อยละ 23.08 (มูลค่า 1,410,866 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.03 (มูลค่า 1,975 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.01 (มูลค่า 318 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 138 ล้านบาท) และไม้ยืนต้น คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 128 ล้านบาท)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad