พีอีเอ เอ็นคอม จับมือ บีซีพีจี ตั้งบริษัท TDED รุกธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2562

พีอีเอ เอ็นคอม จับมือ บีซีพีจี ตั้งบริษัท TDED รุกธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด

พีอีเอ เอ็นคอม จับมือ  บีซีพีจี ตั้งบริษัท TDED รุกธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด


พีอีเอ เอ็นคอม จับมือ  บีซีพีจี ตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development -TDED รุกธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ใช้ระบบดิจิทัลบริหารจัดการซื้อขายไฟฟ้า ตั้งเป้า 5 ปี มีกำลังผลิต 100 เมกกะวัตต์ สร้างรายได้โต 1,000 ล้านบาท นำร่องโครงการแรกผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขนาด 12 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน 300 ล้านบาท 
นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า  บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development (TDED) เพื่อพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดโดยใช้นวัตกรรมช่วยในการบริหารจัดการ เบื้องต้นจะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) และนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้บริโภค  โดยตั้งเป้าหมายลงทุนช่วง 5 ปี(2562-2566) จะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ สร้างรายได้รวม 1,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2562 นี้ จะเริ่มจากความร่วมมือโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ เป็นโครงการแรก ใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท แล้วเสร็จในสิ้นปี 2562 นี้ และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2563
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ บีซีพีจี จะแยกในส่วนของโครงการที่เป็นโซลาร์รูฟท็อปทั้งหมดโอนย้ายไปอยู่ภายใต้ TDED  เช่น  โครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) หรือ หรือ T77 ย่านสุขุมวิท 77 ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของบีซีพีจี ก็จะต้องโอนเข้าไปด้วย รวมถึงโครงการที่จะทำร่วมกับ บริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน)เช่นกัน   สำหรับกลุ่มลูกค้าในอนาคตจะเจาะเป้าหมายนิคมอุตสาหกรรมของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และนิคมฯทั่วไป รวมถึงมหาวิทยาลัย เป็นต้น
ส่วนการพัฒนาซอฟต์แวร์รองรับการซื้อขายไฟฟ้านั้น บีซีพีจี มีพันธมิตรจากออสเตรเลีย คือ บริษัท พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ มาร่วมพัฒนานวัตกรรมให้
“ TDED จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับโอกาสในอนาคตที่รัฐจะเปิดตลาดเสรีซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งระยะต่อไปกฎกติกาต่างๆที่เป็นอุปสรรคจะผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น” นายบัณฑิต กล่าว
ทั้งนี้ บริษัท Thai Digital Energy Development มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 200 ล้านบาท โดยพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 25% และบริษัท บีซีพีจี ถือหุ้นสัดส่วน 75% โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1. เพื่อส่งเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน สนับสนุน New Digital Business ผ่าน PEA Hero Platform ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้พัฒนา 2. เพื่อส่งเสริมธุรกิจประหยัดพลังงาน และธุรกิจบริหารจัดการพลังงาน (ESCO) ในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน 3. เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน Digital Energy แบบครบวงจรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad