ทุ่ม 1.5 พันล้านผุด “จีโนมิกส์” EEC ปักหมุด ม.บูรพาศูนย์บริการแพทย์ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ทุ่ม 1.5 พันล้านผุด “จีโนมิกส์” EEC ปักหมุด ม.บูรพาศูนย์บริการแพทย์

ทุ่ม 1.5 พันล้านผุด “จีโนมิกส์” EEC ปักหมุด ม.บูรพาศูนย์บริการแพทย์

“บอร์ด EEC” ทุ่ม 1,500 ล้านบาท ผุดโครงการพัฒนา “Genomics” ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์ ปักหมุดมหาวิทยาลัยบูรพา ดึงอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ดันไทยขึ้นแท่น medical hub ใน 5 ปี ด้าน ส.อ.ท. ลุ้นรับอานิสงส์ ชงตั้งศูนย์ทดสอบด้านการแพ้-ความเข้ากันได้ของด้านชีวภาพคู่ขนาน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 ที่ประชุมรับทราบให้เดินหน้าจัดตั้งโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ หรือ Genomics Thailand มูลค่าลงทุน 1,500 ล้านบาท
โดยจะใช้พื้นที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้มอบพื้นที่ให้แล้วเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้เตรียมเสนอเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ที่จะได้สิทธิประโยชน์สูงสุดตาม พ.ร.บ.EEC และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน บีโอไอ
นายสุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงจะเป็นผู้ลงทุน 750 ล้านบาท โดยจะร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาโครงการเพื่อบริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Whole Genome Sequencing) 50,000 ราย บริการตรวจทดสอบทางพันธุกรรม (Genetic Testing) สำหรับการคัดกรองโรค/ภาวะเสี่ยงที่กำหนดภายใต้โปรแกรมระดับชาติ และยังส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการวิเคราะห์ขั้นสูงและการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการบริการและวิชาการ และการฝึกอบรม การผลิตบุคลากร การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการการแพทย์แบบจีโนมิกส์เป็นการเฉพาะ และยังเกิดธุรกิจอื่น ๆ จากความร่วมมือของภาคเอกชน
“โครงการนี้จะวิจัยเรื่องรหัสพันธุกรรมที่เราจะรู้ว่าควรใช้ยาแบบไหนมารักษา เราลงทุน 750 ล้านบาท และอีกที่เหลือจะเป็นการลงทุนของเอกชน อย่างบริษัทที่พัฒนาผลิตยาเฉพาะโรค ศูนย์วิจัย บริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะทำให้เรามีอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และไทยจะขึ้นเป็น medical hub ใน 5 ปี ซึ่งเราจะยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษฯ เมื่อเอกชนมาลงทุน เขาจะได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ คือ ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี หรืออาจสูงถึง 13 ปี+ลดหย่อนภาษี 50% 5 ปี”
ด้านนายวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการนี้ส่งผลดีต่อผู้ผลิตยามากกว่าผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ เพราะการทดสอบด้านจีโนมิกส์เป็นการทดสอบด้านพันธุกรรมเพื่อต้องการหายารักษาให้ตรงกับพันธุกรรม จะมีการใช้ชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์น้อย แต่หาก ม.บูรพา ตั้งศูนย์ทดสอบด้านการแพ้ หรือการทดสอบความเข้ากันได้ด้านชีวภาพ (biocompat) เพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งด้านนี้จะมีการใช้ชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์มาก จะเป็นประโยชน์กับกลุ่มมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าพื้นที่ส่วนนี้และรอบ ๆ มีศักยภาพดีที่จะสามารถเป็นแหล่งดึงดูดการลงเข้ามาได้ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพราะในพื้นที่ดังกล่าวหวังที่จะปั้นให้เป็นศูนย์รวมด้านการแพทย์ และดัน จ.ชลบุรี เป็น medical hub บวกกับการได้สิทธิประโยชน์ที่ให้สูงสุดตาม พ.ร.บ.บีโอไอ ที่ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี+5 ปี เป็น 13 ปี
หากลงทุนด้านนวัตกรรมร่วมด้วยในโครงการ และได้ลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปี หากอยู่ใน EEC พื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษ
สำหรับเป้าหมายการที่ไทยจะเป็น medical hub นั้น ขณะนี้ถือว่าไทยเป็น hub แล้วด้านบริการทางการแพทย์ แต่ก็ยังไม่ครบวงจรเพราะด้านการผลิตชิ้นส่วนกับยายังคงต้องใช้ความพยายามอีกมาก ด้วยไทยเองยังไม่สามารถใช้แล็บในประเทศทดสอบได้ ซึ่งยังคงส่งไปทดสอบแล็บต่างประเทศเพื่อให้ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล
ที่มา : prachachat.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad