เปิดตัวมะพร้าวลูกผสมสามทาง 2 พันธุ์ใหม่ยกระดับรายได้ชาวสวน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เปิดตัวมะพร้าวลูกผสมสามทาง 2 พันธุ์ใหม่ยกระดับรายได้ชาวสวน



          กรมวิชาการเกษตร โชว์ผลงานปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวด้วยวิธีผสมสามทางได้ 2 พันธุ์ใหม่ใช้ชื่อลูกผสมสามทางชุมพร 1 และลูกผสมสามทางชุมพร 2 เผยคุณสมบัติเด่นตามหลักเกณฑ์ปรับปรุงพันธุ์ ให้ผลผลิตสูง เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ขนาดผลกลางถึงใหญ่ ส่งต่อเทคโนโลยีผสมสามทางสู่ภาคเอกชนแล้ว
          นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป การซื้อขายตลาดมุ่งเน้นที่ขนาดของผลเป็นหลัก ในขณะที่โรงงานแปรรูปมุ่งเป้าไปที่เนื้อมะพร้าวสด และเปอร์เซ็นต์น้ำมัน การปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวเพื่อให้ได้เป้าหมายดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งท้าทายสำหรับนักวิจัย
          ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับสถานการณ์ตลาดและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยการวิจัยพัฒนามะพร้าวด้วยวิธีการผสมสามทาง เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ยังมีจุดอ่อนของมะพร้าวลูกผสมเดี่ยว จนได้มะพร้าวลูกผสมสามทางจำนวน 2 พันธุ์ที่ให้มีลักษณะดีเด่นตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงพันธุ์ คือ ให้ผลผลิตสูง ผลขนาดกลางถึงใหญ่ เปอร์เซ็นต์น้ำมันไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สามารถปรับตัวให้กับกับสภาพแวดล้อมได้ดี ใช้ชื่อว่ามะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 1 และมะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 2 ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสำหรับแนะนำให้เกษตรกรปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ โดยมะพร้าวทั้ง 2 พันธุ์ผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562
          มะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 1 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,252 ผล/ไร่/ปี ผลมีขนาดกลางถึงใหญ่ น้ำหนักผล 1,882 กรัม/ผล น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้งเฉลี่ย 767 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนมะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 2 ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ น้ำหนักผล 1,509 กรัม/ผล ผลผลิตเฉลี่ย 2,372 ผล/ไร่/ปี น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้งเฉลี่ย 584 กิโลกรัม/ไร่
          อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันได้แนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมด้วยวิธีการผสมสามทางไปสู่บริษัทเอกชนที่มีแปลงแม่พันธุ์ดังกล่าวแล้ว ในอนาคตคาดว่าจะสามารถกระจายพันธุ์ไปสู่เกษตรกรที่มีความต้องการพันธุ์มะพร้าวได้เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร นอกเหนือจากพันธุ์ที่มีปลูกอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถขยายพื้นที่ไปยังแหล่งปลูกใหม่ที่มีศักยภาพ ผลผลิตมะพร้าวเพียงพอต่อความต้องการ ช่วยรักษาเสถียรภาพของราคามะพร้าว ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมมะพร้าว รวมทั้งยังสามารถลดการนำเข้ามะพร้าวผลและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากต่างประเทศ นับเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการเพิ่มผลผลิตมะพร้าวของกรมวิชาการเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad