สส.ปลุกจิตสำนึกโรงเรียน-ชุมชนลดขยะต้นทาง ต้นแบบขับเคลื่อนพฤติกรรมเลิกใช้ ‘พลาสติก’ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

สส.ปลุกจิตสำนึกโรงเรียน-ชุมชนลดขยะต้นทาง ต้นแบบขับเคลื่อนพฤติกรรมเลิกใช้ ‘พลาสติก’


อธิบดีกรมสส.ปลุกจิตสำนึกโรงเรียน-ชุมชน ต้นแบบขับเคลื่อนโครงการขยะเหลือศูนย์ หยุดปัญหาพลาสติกครองโลก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลิกใช้-นำกลับมาใช้ใหม่
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยในการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายชุมชนและโรงเรียนปลอดขยะ ผ่านเข้ารอบที่ 1 ปี 2562 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2562 ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันคนไทยผลิตขยะออกมา 27.82 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 76,200 ตันต่อวัน โดยอัตราการผลิตขยะต่อคน 1.17 กก.ต่อวัน ซึ่งจะถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 10.88 ล้านตัน หรือ 39% ส่วนที่เหลือนำไปกำจัดไม่ถูกต้อง 7.36 ล้านตัน หรือ 27%
ทั้งนี้ ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นเป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน มีการนำกลับมาใช้ใหม่ 8.51 ล้านตัน หรือ 31% ซึ่งในบางพื้นที่ที่มีการจัดการขยะไม่เหมาะสมจะกลายเป็นปัญหามลภาวะ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและแพร่สารพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ประชาชน รวมถึงลดประสิทธิภาพการระบายน้ำซึ่งเป็นอีกสาเหตุของน้ำท่วม
นายรัชฎา กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากสภาพพื้นที่ในหลายๆ ประเทศกำลังถูกยึดครองด้วยกองขยะที่ไร้หนทางแก้ไขจนก่อให้เกิดมลพิษจากขยะพลาสติกในหลายด้าน อันเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยก็ประสบปัญหาดังกล่าว เพราะเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่าไทยมีปริมาณขยะทางทะเลติดอันดับ 6 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้กำหนดมาตรการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) ที่พบมากในขยะทะเลของประเทศไทย และภายในปี 2562 เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาน้ำดื่ม (Cap Seal) พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารออกโซ (Oxo) และไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead) ภายในปี 2565 เลิกใช้ถุงพลาสติกความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน และกล่องโฟมบรรจุอาหาร และภายในปี 2568 เลิกใช้แก้วน้ำพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติก
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า การส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจัดการขยะ โดยลดปริมาณการเกิดขยะที่ต้นทาง นับเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาขยะที่มีปริมาณมากของประเทศลดลงได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนก่อให้เกิดความเข้มแข็งร่วมมือกันแก้ปัญหา ไม่ว่าจะอยู่ในภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคการศึกษา หรือภาคประชาชน ทุกภาคส่วน ร่วมกันแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้นำแนวคิด Zero Waste หรือการจัดการขยะเหลือศูนย์ มาเผยแพร่ให้แก่ชุมชนและโรงเรียน เพื่อขับเคลื่อนการดําเนินการสร้างวินัยในการจัดการขยะตามนโยบายของรัฐบาล ไปสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ภายใต้แนวคิด 3Rs-ประชารัฐ คือการส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง ซึ่งเป็นการจัดการขยะที่ยั่งยืน โดยการลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ซึ่งทั้งชุมชนและโรงเรียนที่อยู่ ณ ที่นี้ ล้วนเป็นชุมชนและโรงเรียนต้นแบบที่มีการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทุกชุมชนและทุกโรงเรียนที่ผ่านเข้ารอบที่ 1 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสำเร็จของชุมชนและโรงเรียนที่ได้รับรางวัลในวันนี้ จะขยายผลไปยังชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป” นายรัชฎา ระบุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad