แนะชาวสวนดูแลผลผลิตรับอากาศเปลี่ยน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

แนะชาวสวนดูแลผลผลิตรับอากาศเปลี่ยน

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า แม้ระยะนี้เข้าฤดูฝนแต่เกิดฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีเพียงร้อยละ 49 และน้ำมีไม่พอทำการเกษตร กรมจึงขอให้ชาวสวนผลไม้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อนจัดและมีฝนตกฉับพลันจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของต้นไม้ผลมาก เพราะไม้ผลช่วงนี้ผลผลิตอยู่ในระยะเกิดตาดอก เป็นช่วงสำคัญที่จะพัฒนาเป็นช่อดอกอีก 15-20 วัน แต่หากระยะนี้มีฝนตกลงมากะทันหัน จะทำให้ต้นไม้ผลปรับตัวเปลี่ยนแปลงจากการเกิดตาดอกไปเป็นแทงใบอ่อนแทน
ดังนั้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปรับตัวหลายมิติ ได้แก่ 1. กรณีลงทุนทำสวนใหม่ ควรวางแผนผลิตพืชให้เติบโตภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มีแหล่งน้ำสำรองกรณีกระทบแล้งควรมี wind break รองรับป้องกันลมพายุ มีทางระบายน้ำที่รวดเร็วกรณีฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน 2. เรียนรู้ปฏิทินรอบการผลิตพืชตลอดทั้งปีว่าต้องดูแลรักษาอย่างไร อีกทั้ง การดูแลช่วงวิกฤตเสี่ยงเกิดตาใบแทนตาดอก ต้องบำรุงต้นโดยใช้ ปุ๋ยฟอสฟอรัสสูง เช่น สูตร 0-52-34 ช่วงฝนตกชุก ก็เป็นวิธีช่วยยับยั้งการแตกใบอ่อนได้ดีมาก แต่ไม่ควรพ่นติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง เพราะจะทำให้ตายอดของพืชแห้งและบอดได้ ซึ่งจะดึงให้เป็นช่อดอกได้ยาก ข้อควรระวัง ช่วงนี้อาจมีลมกระโชกแรงฝนตกหนักเกิดขึ้น บางครั้งยังมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุฟ้าคะนองนี้เกิดขึ้นช่วงเวลาสั้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลไม้ที่อยู่ในระยะพัฒนาจากผลอ่อนใกล้จะเป็นผลแก่ พร้อมเก็บเกี่ยวต้องเสียหาย นอกจากนี้ บางช่วงอากาศจะแห้งมากเอื้อต่อการเกิดไฟป่า จึงขอให้ระวังการใช้เชื้อเพลิงทำกิจกรรมในระยะนี้
สำหรับการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อบริหารจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพดี กรณีตัวอย่างมังคุดปีนี้ผลผลิตมีแนวโน้มการผลิตสูงขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว ตลาดมังคุดเปิดกว้าง เกษตรกรน่าจะขายได้ราคาดีแต่จากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อคุณภาพผลมังคุดและผลไม้ชนิดอื่น ซึ่งเกษตรกรควรเตรียมการดังนี้ 1. วางแผนผลิตและดูแลรักษาให้ถูกต้องและมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ 2. ตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม ทยอยเก็บผลผลิต เพื่อลดความเสียหาย 3. คัดแยกผลที่ไม่สมบูรณ์ตกเกรด เพื่อลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง 4.ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ 5. คาดคะเนช่วงเวลาที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดล่วงหน้า หาตลาดล่วงหน้ารองรับ ซื้อขายผลผลิตในรูปแบบบกลุ่ม ทำให้มีอำนาจต่อรอง 6. มี packaging ที่เหมาะสม นอกจากนี้ ชาวสวนไม้ผลต้องเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad