‘ไทยเบฟ’ ผลักดัน ‘วิสาหกิจเพื่อสังคมร่วมใจพัฒนาชุมชนย่านกะดีจีน’ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

‘ไทยเบฟ’ ผลักดัน ‘วิสาหกิจเพื่อสังคมร่วมใจพัฒนาชุมชนย่านกะดีจีน’

‘ไทยเบฟ’ ผลักดัน ‘วิสาหกิจเพื่อสังคมร่วมใจพัฒนาชุมชนย่านกะดีจีน’
นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ สำหรับกิจกรรม SE Week ลงพื้นที่ชุมชนย่านกะดีจีน ที่จัดขึ้นภายใต้งาน “วิสาหกิจเพื่อสังคม : กลไกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จัดโดย บริษัท ซี เอ ซี จำกัด (C asean) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย และ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม(ประเทศไทย) จำกัด พร้อมทั้งร่วมทำการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการ “ร่วมใจพัฒนาชุมชนย่านกะดีจีน” เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาความยั่งยืนของชุมชนย่านกะดีจีน ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ถือเป็นชุมชนตัวอย่างในด้านการบริหารจัดการชุมชนอัจฉริยะ และ เป็นชุมชนที่มีความยั่งยืน ตามเป้าหมายข้อที่ 11 ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
ล่าสุดได้ทำกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนย่านกะดีจีน โดยมีผู้ร่วมทริปเยี่ยมชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำงานทางด้านธุรกิจเพื่อสังคม เริ่มทริปด้วยการเข้าชมพระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และกราบนมัสการพระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา พระพุทธนาคน้อย พระนาคปรกเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต จากนั้นเข้าไปชมบรรยากาศภายใน เขามอ ภูเขาจำลองขนาดใหญ่ประดับด้วยต้นไม้หายาก ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ช่วงบ่ายชมสาธิตการทำหมูกระดาษ จากป้าน้อย ต่อด้วยการเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนสถานที่ที่เก็บรวบรวมความเป็นมาอันเก่าแก่ของชุมชนถือเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และรากเหง้าของชาวชุมชนกะดีจีน ปิดท้ายทริปด้วยการไหว้สักการะ ศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้าจีนเก่าแก่ของชุมชนย่านกะดีจีน และชมความงดงามของสถาปัตยกรรมแบบจีน ภายในวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ที่นับเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ เรียกว่าเป็นความสวยงามของศิลปะจีนที่อยู่ในวัดไทยซึ่งดึงดูดสายตาให้ชวนมองด้วยความชื่นชม สำหรับทริปในครั้งนี้ทุกคนได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศ และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชุมชมริมแม่น้ำเจ้าพระยากันแบบเต็มอิ่ม และก่อนแยกย้ายเดินทางกลับทุกคนได้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประทับใจกับกิจกรรมในครั้งนี้สุดๆ
ปิ่นทอง วงษ์สกุล ประธานชุมชนและประธานการขับเคลื่อนย่านกะดีจีน กล่าวว่า “ชุมชนกะดีจีน เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของชุมชนแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและเรื่องราวอันน่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะสัมพันธภาพภายใต้ความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมในชุมชนที่ประกอบไปด้วย ชาวจีน อินเดีย และยุโรป ที่อยู่ร่วมกันอย่างปรองดองเป็นเวลานานกว่า 200 ปี ประกอบไปด้วย 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดประยูรวงศ์ ชุมชนบุปผาราม ชุมชนกุฎีขาว ชุมชนวัดกัลยาณ์ ชุมชนโรงคราม และชุมชนกะดีจีน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ได้แก่ พุทธเถรวาท พุทธมหายาน คริสต์ และอิสลาม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมาอย่างยาวนาน สำหรับชุมชนแห่งนี้นับเป็นชุมชนที่ยังรักษาอัตลักษณ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้คงเดิม และได้ทราบว่าเมื่อไม่นานมานี้ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการร่วมใจพัฒนาชุมชนย่านกะดีจีน ส่วนตัวรู้สึกยินดีที่มีสิ่งใหม่ๆ เข้ามา และทำให้เราต้องเตรียมตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง เรื่องแรกคือนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามากขึ้น แต่สิ่งที่เรายังยืนหยัดไว้คือการดำรงวิถีชีวิตของเราไม่เปลี่ยนไปแน่นอนค่ะ สิ่งที่เราต้องคิดต่อเป็นการบ้านคือ ในฐานะที่เราเป็นเจ้าบ้าน จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชนของเรามาเที่ยวและรู้สึกประทับใจ”ด้าน Nikoletta Ventoura เจ้าหน้าที่พัฒนาการสื่อสารกับชุมชน กับหน่วยงาน MeXOXO จากประเทศกรีซ ซึ่งเป็นองค์กรด้านการพัฒนากลุ่มสตรีในเรื่องการทำธุรกิจ เผยความรู้สึกว่า “ส่วนตัวไม่เคยไปประเทศแถบเอเชียมาก่อนค่ะ เป็นครั้งแรกที่ได้มาประเทศไทยเหมือนเป็นโลกใบใหม่ ได้เห็นถึงเอกลักษณ์เรื่องการให้ความเคารพนับถือกันและรู้สึกดีใจมากที่ได้มาร่วมทริปในครั้งนี้ได้เห็นพื้นที่ชุมชนทำให้ฉันนึกถึงวิธีที่จะช่วยคนในชุมชน ซึ่งมันเชื่อมโยงทำงานด้าน Social Business กับกลุ่มผู้หญิงในประเทศกรีซ ทำงานด้านการเตรียมความพร้อมให้เป็นผู้ประกอบการ ลักษณะงานน่าจะคล้ายกันในเรื่องที่ต้องพยายามเชื่อมโยงและเชิญชวนคนให้เข้ามาทำงานร่วมกันค่ะ”
เรียกได้ว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ชุมชนย่านกะดีจีน ให้เป็นชุมชนธุรกิจเพื่อสังคม และเป็นชุมชนตัวอย่างที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) สืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad