สทนช.ระดมทีมปรับแผนระบายน้ำ รับมือเอลนีโญ-เน้นเก็บไว้กินใช้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

สทนช.ระดมทีมปรับแผนระบายน้ำ รับมือเอลนีโญ-เน้นเก็บไว้กินใช้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา พบปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30-40% บางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอีสาน จากที่คาดการณ์ว่าฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีไม่ถึงครึ่งของที่กำหนดไว้ในแผน ขณะเดียวกับที่ต้องส่งน้ำเข้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรมากขึ้นไม่ให้พืชยืนต้นตาย ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯลดลงเร็ว เหลือน้ำน้อยกว่าที่กำหนดไว้ แม้ตอนนี้จะมีฝนตกลงมาบ้างแต่ตกเป็นบางจุดไม่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฝนจะตกอีกครั้งเดือนสิงหาคม พร้อมพายุพัดผ่านประเทศไทย 1-2 ลูก ก่อนจะซาลงในเดือนกันยายน
ดังนั้น น้ำต้นทุนที่คาดหวังจะเก็บกักได้คือ ภายในเดือนสิงหาคม เป็นส่วนใหญ่ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรวางแผนปฏิบัติการทำฝนเทียมบริเวณภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอีสาน ทั้งพื้นที่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำและเติมน้ำต้นทุนให้พื้นที่การเกษตรให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ พื้นที่ 20 จังหวัด 83 อำเภอ ในภาคอีสาน และภาคเหนือ มีฝนตกน้อยเสี่ยงเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ยืนยันว่าน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เตรียมแผนสำรองขุดลอกทำท่อเชื่อมต่อ เพื่อให้ระบบประปาบริหารจัดการน้ำได้ไปถึงต้นเดือนกันยายน
“ถัดมาคือ ทบทวนแผนปรับลดปริมาณระบายน้ำจากเขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาบางส่วน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าฤดูแล้งหน้าจะมีน้ำกินน้ำใช้ รวมทั้งรักษาระบบนิเวศในลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งต้องใช้น้ำ 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดว่าจะบริหารจัดการได้ตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งยังดึงน้ำจากภาคตะวันตกเข้ามาให้กับลุ่มเจ้าพระยาแล้วเพื่อช่วยประหยัดการส่งน้ำของเขื่อนหลักทั้ง 4 อีกทางหนึ่งอีกด้วย” เลขาฯ สทนช. กล่าว
นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า เมื่อถึงสิ้นเดือนสิงหาคม จะทบทวนน้ำต้นทุนของทั้งประเทศอีกครั้ง หากอ่างเก็บน้ำแห่งใดมีปริมาณน้ำที่เก็บไว้ไม่ถึงร้อยละ 30 ของปริมาณเก็บกัก อาจต้องประสานกรมชลประทานงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร และสงวนน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ และขณะนี้ ถ้าเกษตรกรคนใดยังไม่ปลูกพืชให้ชะลอการปลูกพืชออกไป เพื่อป้องกันความเสียหายและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขาดแคลนน้ำ สำหรับพื้นที่เกษตรที่เสียหายแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรมีมาตรการประเมินเยียวยาความเสียหายตามความเหมาะสมต่อไป
“ปรากฏการณ์อุณหภูมิโลกสูงขึ้น หรือเอลนีโญ ยังส่งผลกระทบวงกว้างกับทุกภูมิภาคทั่วโลก สำหรับประเทศไทยที่เห็นชัดเจนคือ แม่น้ำโขง ที่ฝนตกลงลุ่มน้ำโขงตั้งแต่จีน พม่าและลาว ลดน้อยลงกว่า 50% ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขงมีเพียง 11% ของปริมาณที่คาดการณ์เท่านั้น ที่น่าเป็นห่วงคือ ลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงในประเทศไทยบางส่วน เช่น ทางลุ่มน้ำอูน ลุ่มน้ำสงคราม ปริมาณน้ำไหลเร็วเนื่องจากสถานการณ์น้ำโขงที่ลดลงรวดเร็ว จึงไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งเครื่องจักรกล รถบรรทุกน้ำและเครื่องมือสนับสนุนจัดสรรน้ำให้ความช่วยเหลือ โดยเน้นส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคก่อน นอกจากนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ ห้วยหลวง ห้วยโมง สถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์พอใช้ เพราะมีประตูเก็บกักน้ำ ผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจึงมีไม่มาก แต่ต้องเตรียมพร้อมเครื่องมือเข้าช่วยเหลือทันทีหากเกิดกรณีฉุกเฉิน” นายสมเกียรติ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad