ผวจ.เลยยินดี ‘ประตูน้ำศรีสองรัก’ เพื่อส่วนรวม กลุ่มชาวบ้านชี้ละเลยสัญญาตั้งคณะทำงานร่วม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ผวจ.เลยยินดี ‘ประตูน้ำศรีสองรัก’ เพื่อส่วนรวม กลุ่มชาวบ้านชี้ละเลยสัญญาตั้งคณะทำงานร่วม


ผู้ว่าฯเลยเผยยินดีหาก “ประตูน้ำศรีสองรัก” เป็นประโยชน์ส่วนรวม ด้านชาวบ้านเข้ายื่นหนังสือคัดค้าน ทวงตั้งคณะทำงานตามที่เคยตกลงร่วมกัน
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชน ณ ด่านศุลกากรเชียงคาน เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2562 เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำแล้งในพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย โดยสรุปสถานการณ์หลังได้รับรายงานจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่า ตามปกติแล้วในช่วงนี้ของปีที่ผ่านๆ มาระดับน้ำโขงจะอยู่ประมาณ 10 เมตร แต่ปีนี้อยู่ที่ระดับ 3 เมตร อย่างไรก็ตามระดับน้ำกำลังเพิ่มขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์สำรวจอุทกวิทยาที่ 8 เชียงคานรายงานมาว่ามีน้ำไหลจากหลวงพระบาง ผ่านเมืองไซยะบุรี เมืองปากลาย ในประเทศลาว เข้ามาสู่ประเทศไทยที่ อ.เชียงคาน จ.เลย อย่างต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอำเภอได้ 211 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ขณะเดียวกัน นายชัยวัฒน์ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก กั้นปากแม่น้ำเลยห่างจากจุดที่แม่น้ำเลยไหลลงแม่น้ำโขงประมาณ 800 เมตร ซึ่งคาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของอภิมหาโปรเจคแห่งภาคอีสาน โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยชี้ว่าสำหรับ จ.เลย ซึ่งตั้งอยู่ติดแม่น้ำโขง หากการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักช่วยให้จังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ห่างออกไปได้มีน้ำใช้ มีผู้ได้รับประโยชน์ ทางจังหวัดในฐานะเจ้าของพื้นที่ตั้งโครงการก็ยินดี
ทั้งนี้ ชาวบ้านกลุ่มฮักแม่น้ำเลย ได้เข้ายื่นหลังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกร้องให้ระงับโครงการไว้ก่อน โดยขอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมตามที่เคยมีข้อตกลงร่วมกัน
มุด อุ่นทุม ตัวแทนกลุ่มฮักแม่น้ำเลย กล่าวว่า ชาวชุมชนบ้านกลาง ต.ปากตม อ.เชียงคาน ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการว่าจะมีการสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก บริเวณปากแม่น้ำเลยก่อนไหลสู่แม่น้ำโขง พื้นที่ก่อสร้างน่าจะอยู่ที่ ต.ปากตม และ ต.นาซ่าว โดยเบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อที่ดินประมาณ 2,500 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ทั้งยางพารา ไร่ถั่ว มัน ข้าวโพด พืชผักต่างๆ ประมาณ 750 ไร่ และพื้นที่สาธารณประโยชน์อีกประมาณ 300 ไร่ สร้างความกังวลว่าอาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายระบบนิเวศ เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของแม่น้ำ และนำไปสู่การทำลายความมั่นคงทางอาหาร
ธนูสิงห์ อินดา หนึ่งในผู้ที่เดินทางมายื่นหนังสือ กล่าวว่า ชาวบ้านยื่นหนังสือคัดค้านและร้องเรียนมาตลอด 4 ปี โดยพยายามยื่นทุกหน่วยงาน และเคยได้รับการตอบรับจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่วัดโพธิ์ศรีหายโศก บ้านกลาง มีตัวแทนชาวบ้าน กรมชลประทาน และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ซึ่งผลการประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม และให้กรมชลประทานทำแบบจำลองเพื่อการศึกษาร่วมกัน
“ปรากฏว่าได้มีการนัดประชุมและทำกิจกรรมในพื้นที่โครงการโดยไม่แจ้งให้ตัวแทนชาวบ้านทราบ ยกตัวอย่างการจัดประชุมรายงานความคืบหน้าโครงการต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ถือเป็นการสร้างความขัดแย้งและไม่ทำตามข้อตกลง จนชาวบ้านต้องจัดประชุมร่วมกันก่อนลงมติเอกฉันท์ว่าให้ยื่นหนังสือขอระงับโครงการนี้” ธนูสิงห์ ระบุ
อย่างไรก็ตามผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้รับเอกสารพร้อมกับพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านกลุ่มฮักแม่น้ำเมืองเลย และมีการเขียนบันทึกร่วมกัน อาทิ ตามที่ชาวบ้านอ้างว่ากรมชลประทานยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมหมู่บ้านกลาง ขอให้ออกเอกสารมาเซ็นรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรกับชาวบ้าน ขอให้กรมชลประทานอธิบายว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากจุดใดถึงจุดใด การใช้น้ำของเกษตรกรในอนาคตจะได้ใช้น้ำฟรีหรือต้องเสียค่าใช้น้ำ คิดเป็นชั่วโมงละเท่าใด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนัดประชุมร่วมระหว่างชาวบ้านกับตัวแทนกรมชลประทาน โดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธานที่วัดโพธิ์ศรีหายโศก ภายใน 15 วันหลังจากนี้ ซึ่งล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างประสานงานเพื่อจัดการประชุมร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad