เร่งรับรองGAP-GMPผลไม้ภาคใต้-โรงคัดบรรจุ7จว. ขยายตลาดส่งออกแก้ราคาต่ำ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เร่งรับรองGAP-GMPผลไม้ภาคใต้-โรงคัดบรรจุ7จว. ขยายตลาดส่งออกแก้ราคาต่ำ

เร่งรับรองGAP-GMPผลไม้ภาคใต้-โรงคัดบรรจุ7จว. ขยายตลาดส่งออกแก้ราคาต่ำ
29 กรกฎาคม 2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร เร่งเร่งตรวจประเมินให้การรับรองผลไม้ภาคใต้ ตามมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดี (GAP)และมาตรฐานโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือก (GMP)ให้ทันฤดูการส่งออกปี 2562 
ขณะนี้เตรียมให้การรับรองมาตรฐาน GAPและ GMP ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต โดยคณะกรรมการจะพิจารณารับรอง GAP แปลงทุเรียนในวันที่ 30 กรกฎาคม จำนวน 3,263 แปลง และวันที่ 2 สิงหาคม รับรองเพิ่มอีก 3,550 แปลง มังคุด 3,055 แปลง ส่วนการรับรองมาตรฐาน GMP ของโรงคัดบรรจุดำเนินการแล้ว 419 โรง เหลืออีก 93 โรงจะเร่งพิจารณาในต้นสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ผลผลิตไม้ผล 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนจะมี 542,797 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 396,168 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.01 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับราคาไม้ผลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 โดยเฉพาะทุเรียน เกษตรกรจึงเอาใจใส่ดูแลสวนผลไม้มากขึ้น ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของไม้ผลเพิ่มขึ้น เพราะสภาพต้นสมบูรณ์
โดยทุเรียนมีเนื้อที่ปลูก 369,913 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 6.37 เนื้อที่ให้ผล 283,395 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 ผลผลิตรวม 338,270 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.94 ผลผลิตเฉลี่ย 1,194 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.80 มังคุดมีเนื้อที่ปลูก 190,621 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 0.23 เนื้อที่ให้ผล 181,681 ไร่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.71 ผลผลิตรวม 129,022 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.61 ผลผลิตเฉลี่ย 710 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.31 เงาะมีเนื้อที่ปลูก 47,973 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 9.53 เนื้อที่ให้ผล 46,667 ไร่ ลดลงร้อยละ 10.27 ผลผลิตรวม 50,360 ตัน ลดลงร้อยละ 1.95 ผลผลิตเฉลี่ย 1,079 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.21
 
ทั้งนี้สาเหตุที่เนื้อที่ให้ผลเงาะลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ทุเรียน มังคุด ส่งผลให้ผลผลิตลดลง และลองกองมีเนื้อที่ปลูก 57,443 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 22.77 เนื้อที่ให้ผล 56,121 ไร่ ลดลง ร้อยละ 22.33 ผลผลิตรวม 25,145 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.61 ผลผลิต 448 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.37 สำหรับลองกองแม้เนื้อที่ให้ผลลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีช่วงแล้งที่เหมาะสม ให้ลองกองออกดอกมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ผลผลิตปีนี้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลผลิตภาคใต้ตอนล่างประมาณการณ์ว่าจะมี 169,205 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 23.76 ของผลผลิตทั้งภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ซึ่งคาดว่า จะมีผลผลิตรวมประมาณ 712,002 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีผลผลิต 529,385 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.20
ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จ.สุราษฎร์ธานี (สศท.8) รายงานว่า ผลไม้ภาคใต้จะออกมากสุดในเดือนสิงหาคม ซึ่งแนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปีนี้ยังคงเน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังต่างประเทศซึ่งต้องมีการรับรองทั้งมาตรฐาน GAP และ GMP ซึ่งหากขยายการส่งออกได้มากขึ้นจะสามารถทำให้ผลผลิตของผลไม้ภาคใต้ที่เพิ่มขึ้นนี้ยังคงรักษาเสถียรภาพราคาไว้ได้ โดยไม่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad