เสพงานศิลป์ เติมเต็มความสุขให้ชีวิต ในนิทรรศการ ‘จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 21’ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เสพงานศิลป์ เติมเต็มความสุขให้ชีวิต ในนิทรรศการ ‘จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 21’

เสพงานศิลป์ เติมเต็มความสุขให้ชีวิต ในนิทรรศการ  ‘จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 21’
เปิดงานนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค“เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ”ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ผ่านมุมมองศิลปินรุ่นใหม่ที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิต สังคม และความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่เชื่อมโยงเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมนำไปสู่การสร้างความสุขให้แก่มวลมนุษยชาติ จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปะ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ
เมธ์วดี นวพันธ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 21 กล่าวว่า “ศิลปะคือการสร้างสรรค์ความงามที่มีคุณค่าต่อจิตใจมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เช่นเดียวกับพานาโซนิคที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความสุขความสมบูรณ์ให้กับชีวิตทุกคน ศิลปินไม่ใช่แค่สร้างความสุข แต่ยังช่วยเหลือสังคมไทยในแง่ของการช่วยสะท้อนภาพของสังคมในแง่มุมต่างๆ ทั้งความจริง ความดีและความงาม อีกทั้งช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน พร้อมทำหน้าที่หล่อหลอมสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวเพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้น
และด้วยเหตุนี้ พานาโซนิค จึงเกิดแนวความคิดจัดการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยขึ้นเริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538 จวบจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 21 ปีที่บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติ สืบสานผ่านผลงานจิตรกรรมอันทรงคุณค่า อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสและส่งเสริมให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างเป็นอิสระ มีเวทีแสดงผลงานออกสู่สาธารณชน เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อวงการศิลปะระดับประเทศ นิทรรศการครั้งนี้ได้พิจารณาและคัดเลือกผลงานโดยคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ จากผลงานที่มีคุณค่าทางศิลปะมีทักษะในการสร้างสรรค์อย่างโดดเด่น ถ่ายทอดแนวความคิดและตัวตนของศิลปินโดยไม่ลอกเลียนแบบผู้อื่น รวมถึงสะท้อนภาพชีวิตและสังคมผ่านผลงานอันเป็นอัตลักษณ์ และเชื่อว่าผลงานที่จัดแสดงจะช่วยกระตุ้นให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้เกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานมีคุณภาพต่อไปในอนาคต”
ศ.กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี ประธานคณะกรรมการตัดสินผลงาน กล่าวว่า “ภาพรวมผลงานปีนี้ ศิลปินรุ่นใหม่ทำออกมาได้ดี เห็นถึงความตั้งใจ มีความพิถีพิถันในการถ่ายทอดและผลิตผลงานออกมาอย่างมีคุณค่า ปัจจุบันศิลปินรุ่นใหม่มีฝีมือสูงขึ้น แนวคิดมีความหลากหลายและแสดงความเป็นปัจเจกบุคคล นำประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวของตัวเองมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยผลงาน “แถลงข่าว 2” ของ อานนท์ เลิศพูลผล ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีรับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ถ่ายทอดถึงแนวความคิดและเจตนารมณ์ด้านความเข้าใจในเรื่องความดีความชั่วจากการที่ได้รับการสั่งสอนและปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ ช่างแตกต่างไปจากที่ได้รู้ได้เห็นเมื่อเติบโตขึ้น สะท้อนถึงความรู้สึกถูก-ผิดในเรื่องของกฎหมายและศีลธรรม ให้ประจักษ์ในงานจิตรกรรมชิ้นนี้ ศิลปินได้สร้างสรรค์งานออกมาเป็นภาพของทางเจ้าหน้าที่นำผู้ต้องหามาแสดงเพื่อแถลงข่าวของการจับกุม เป็นภาพที่เราได้เห็นจนชาชินโดยเชื่อว่าผู้ต้องหาเหล่านั้น คือผู้ทำชั่วผิดกฎหมาย แต่บางครั้งเราไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นจริงหรือเป็นภาพลวง ศิลปินมีวิธีการจัดภาพนำเสนอเทคนิคกลวิธี มาแสดงได้อย่างทันสมัยตามความนิยมของศิลปะร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจและสะเทือนอารมณ์”, รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ผลงาน “Decommissioned No.4” โดย ชัยชนะลือตระกูล ใช้เทคนิคสีอะคริลิกถ่ายทอดให้เห็นภาพทำนายในอนาคตกับเหล่าเศษซากสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกส่งออกไปนอกโลกจำนวนมหาศาล สุดท้ายกลายเป็นขยะถูกทิ้งกระจัดกระจายเต็มทั่วทั้งชั้นบรรยากาศ และผลงาน “ความงามในความผูกพัน” โดย ณัฐกานต์ เจริญเชาว์ใช้เทคนิคสีอะคริลิกบนเฟรมผ้าใบ ที่สะท้อนถึงสุนทรียภาพแห่งความสุขและความรักสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในสังคมไทย รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 3 มี 3 รางวัล ได้แก่ผลงาน “วัตถุในความสัมพันธ์ 2” โดย ปัญญาวิศิษฐ์ สุริสุข ใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ถ่ายทอดออกมาจากแรงบันดาลใจจากเครื่องมือประกอบอาชีพของครอบครัว บนพื้นฐานอาชีพที่ไม่มั่นคงนักในรูปแบบที่เป็นกึ่งนามธรรมในชีวิต ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ต่อมาคือผลงาน “Cyber Bullying” โดย วฤทธิ ไพศาลจิรศักดิ์ ใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบที่สะท้อนแนวคิดในสังคมไทยเรื่องการ Bully ด้วยการล้อเลียนให้ร้าย ต่อว่าด้วยคำพูดเกลียดชังกันในโลกโซเซียล ได้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว โดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำร้ายคนอื่นอยู่ และผลงาน “ใครงามฤกษ์ในปฐพี” โดยณัฐวุฒิ แต่งวัฒนไพบูลย์ ใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพสื่อออกมาให้บุคลิกภายนอกสำคัญต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน การลุ่มหลงเสพติดการศัลยกรรม ทำให้มนุษย์ยึดติดอยู่กับบ่วงพิมพ์นิยมแห่งความงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad