สกัดโรคข้ามแดน! รมช.เกษตรฯสั่งเข้มป้อง'อหิวาต์หมู'ระบาดเข้าไทย สแกนทุกจุดเสี่ยง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สกัดโรคข้ามแดน! รมช.เกษตรฯสั่งเข้มป้อง'อหิวาต์หมู'ระบาดเข้าไทย สแกนทุกจุดเสี่ยง

สกัดโรคข้ามแดน! รมช.เกษตรฯสั่งเข้มป้อง'อหิวาต์หมู'ระบาดเข้าไทย สแกนทุกจุดเสี่ยง

"ประภัตร"ผวาโรคอหิวาต์หมู ป้องระบาดจากเพื่อนบ้านเข้าไทย เตรียมขอนายกฯใช้งบฉุกเฉิน สกัดโรคข้ามแดน ล่าสุดเกิดระบาดที่เมียนมา จ่อคอหอยไทย สั่งเพิ่มอัตรากำลังกว่า1พันคนตรวจสอบฟาร์มเลี้ยง และเคลื่อนย้ายสัตว์24ด่านตลอดแนวชายแดนทั่วประเทศ เร่งลงพื้นที่ท่าเรือเชียงแสน ระดมอุดรอยรั่วจุดเสี่ยง
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกประชุมทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับมาตรการป้องกันโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยกล่าวว่า โรคอหิวาต์สุกรได้เกิดระบาดมาทั่วโลกและลามเข้าทวีปเอเซีย จนขณะนี้เกิดโรคระบาดที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทย และประเทศเมียนมา กำลังพบโรคระบาดล่าสุด ตนจึงเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนราชการ สมาคมปศุสัตว์ทั่วประเทศ ผู้เลี้ยงรายใหญ่ รายย่อย เพิ่มมาตรการป้องกันโรคนี้ไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศไทย โดยสั่งเพิ่มอัตรากำลังคนกว่า 1 พันคน ไปช่วย 24 ด่านปศุสัตว์ ร่วมทำงานตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกด่านอย่างเข้มงวดมีความแข็งแรงมากขึ้น และร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ ดำเนินการมาตรการเฝ้าระวังโรคทั้งในประเทศ และตลอดแนวชายแดนทุกด้าน พร้อมกันนี้จะเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อของบกลางฉุกเฉินสำหรับมาตรการเร่งด่วนรับมือและป้องกันโรคอหิวาต์สุกรเป็นวาระแห่งชาติ
"วันที่ 30 ส.ค.และ 1 ก.ย.นี้ จะลงพื้นที่ จ.เชียงราย จัดประชุมทุกระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ป้องกันจุดเสี่ยงทั้งหมด สกัดโรคจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะที่ด่านท่าเรือ อ.เชียงแสน และแนวชายแดนไทย-เมียนมา  ซึ่งมีระยะทางยาวและกว้างมาก โดยงบปีที่แล้วเหลือ 100 ล้านบาท จะนำมาใช้ป้องกันและต้องขอเพิ่ม ยกระดับการเลี้ยงหมูรายย่อย ให้เป็นมาตรฐาน กรมปศุสัตว์เข้าแนะนำการเลี้ยงให้ถูกต้อง ซึ่งการเลี้ยงหมูของไทยเป็นแหล่งสุดท้ายในอาเซียน เป็นแหล่งอาหารสำคัญ รักษาไว้ให้ได้ ถ้าเกิดแล้วต้องใช้เวลาเป็นปีๆกว่าจะทำให้โรคสงบ ขอประชาชนอย่าตระหนกกับโรคนี้เพราะเป็นโรคที่ติดต่อระหว่างสุกรไปสู่สุกร ไม่ติดต่อสู่คน ยังบริโภคเนื้อสุกรได้ตามปกติ แต่หากเกิดโรคระบาดจะกระทบระบบเศรษฐกิจและเป็นภัยคุกคามความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ขณะนี้เหลือไทยประเทศเดียวที่ยังไม่เกิดโรค ดังนั้น จะต้องรักษาไว้อย่างเต็มที่ให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีมาตรฐานเพื่อเป็นครัวโลก" นายประภัตร กล่าว
ขณะที่ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคนี้เข้ามาทวีปเอเซียและเข้ามาระบาดในประเทศรอบบ้านเรา ล่าสุดเกิดโรคที่ประเทศเมียนมา นับเป็นความเสี่ยงของไทยขั้นสุด รมช.เกษตรฯจึงเชิญหารือทุกฝ่ายนำพาประเทศรอดพ้นจากภัยคุกคามนี้ ซึ่งเป็นความั่นคงทางอาหาร เพราะการเลี้ยงสุกรของไทยมีกว่า 20 กว่าล้านตัว มูลค่าเกือบสองแสนล้านบาท ซึ่งการป้องกันไม่ให้โรคเข้ามาในไทย จะได้ประโยชน์มหาศาล ทั้งเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง ด้านอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การเกษตรที่ปลูกพืชที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ และภาคสังคม แม้โรคนี้ไม่ติดคน
"รมช.เกษตรฯ สั่งการให้ทำแผนมาใหม่ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างเข้มข้นมากขึ้นในทุกจุดเสี่ยงตลอดแนวชายแดน พร้อมเสนองบเพิ่มเติม ทั้งเพิ่มอัตรากำลังคน เฝ้าระวังอุดรอยรั่วทุกอย่าง ด้านจังหวัดแนวชายแดนมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยกว่า 2 แสนราย จะมีงบให้รายละ 1 หมื่นบาท ปรับปรุงฟาร์มเลี้ยงเพื่อยกระดับการเลี้ยงเป็นจีเอฟเอ็ม สามารถป้องกันโรคได้ มีคอกมาตรฐาน ทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ จะรู้ว่าสุกรมาจากไหน ซึ่งระบบดังกล่าวเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก ภาครัฐจะช่วย โดย รมช.เกษตรฯ เตรียมการไว้แล้วในเรื่องวางระบบออนไลน์ปศุสัตว์ ทั้งนี้ ประชุมทางไกลให้เฝ้าระวังระดับสูงสุด ตั้งวอร์รูมทุกจังหวัด จัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ลงตรวจโรคติดตามการเลี้ยงทุกฟาร์ม มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ปศุสัตว์จังหวัด เป็นเลขาฯแผนมาตรการป้องกันนี้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมมีไกด์ไลน์ เรื่องโรค เพื่อแนะนำทุกจังหวัดเข้าใจตรงตามแผน จัดทำอีสมาท์สพลัส ประเมินความเสี่ยงพื้นที่ตลอดเวลา จากสูงไปกลางจนถึงปกติ ใช้สีแดง ส้ม เหลือง เขียว ให้ปศุสัตว์อำเภอ ไปเฝ้าระวังหมู ถ้าพบมีลักษณะของการเกิดโรคประมาณ 5% ของฝูงต้องทำลาย กลบฝั่ง สิ่งสำคัญเพิ่มการเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็ง ร่วมกับภาคเอกชน ป้องกันโรคให้ได้เอาให้อยู่" นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว
ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ได้มอบกระเช้าดอกไม้แสดงความขอบคุณ รมช.เกษตรฯ ที่เป็นห่วงสถานการณ์โรคอหิวาต์สุกร และกำหนดมาตรการเฝ้าระวังชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมรับปากช่วยดูแลอย่างจริงจัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad