นักวิจัยเผยพรานล่านกชนหิน “เส้นใหญ่” วอนเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนสม่ำเสมอกันก่อเหตุซ้ำ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562

นักวิจัยเผยพรานล่านกชนหิน “เส้นใหญ่” วอนเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนสม่ำเสมอกันก่อเหตุซ้ำ

นักวิจัยเผยพรานล่านกชนหิน “เส้นใหญ่” วอนเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนสม่ำเสมอกันก่อเหตุซ้ำ

นกชนหิน
นกเงือกโบราณ – นกชนหิน – โบยบินในอากาศ //ขอบคุณภาพจาก: TRAFFIC
หลังการล่าเอาโหนกนกชนหินอย่างอุกอาจถึงสี่ตัวในอุทยานแห่งชาติบูโดสุไหงปาดี ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดนักวิจัยในพื้นที่เผยพรานล่านกเป็นพรานมืออาชีพจากนอกพื้นที่ มีเส้นสายใหญ่แน่นอน เพราะการเข้าออกพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านหลายด่านความมั่นคง พร้อมแสดงความกังวลว่าอาจมีการก่อเหตุซ้ำ เพราะโหนกนกชนหินกำลังมีความต้องการและมีมูลค่าที่สูงมากในตลาดมืด
ปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 กันยายน ว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน มีชาวบ้านในพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับโครงการศึกษานิเวศวิทยานกเงือกเข้าป่าไปพบกับซากนกชนหินไร้หัวถึงสี่ตัว เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่ามีการล่านกชนหินเพื่อเอาโหนกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตรงกับกระแสข่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีพรานจากนอกพื้นที่ต้องการเข้ามาล่านกชนหินเพื่อเอาโหนกไปขายในตลาดมืด
“การสูญเสียนกชนหินถึงสี่ตัว นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับการอนุรักษ์นกชนหินในประเทศไทย เพราะประชากรนกชนหินในไทยมีอยู่เพียงประปราย เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง และในพื้นที่ศึกษาของโครงการฯในอุทยานแห่งชาติบูโดสุไหงปาดี พบว่ามีประชากรนกชนหินอยู่เพียงไม่เกิน 20 คู่เท่านั้น” ปรีดากล่าว
“การตายของนกชนหินถึงสี่ตัวจึงนับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อเทียบกับประชากรเพียงน้อยนิดในเขตอุทยานแห่งชาติบูโดสุไหงปาดี”
แม้ว่าหลังจากเหตุการณ์ล่านกชนหินในถึงเขตอุทยานแห่งชาติกลายเป็นข่าวใหญ่ เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้ยกระดับการลาดตระเวนในพื้นที่อย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำ ปรีดาแสดงความกังวลว่า สุดท้ายแล้วเมื่อกระแสรักษ์นกชนหินเสื่อมคลายลงเมื่อเวลาผ่านไป ความเข้มข้นในการตรวจตราลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่อาจจะถดถอยลงเช่นกัน เปิดทางให้เกิดการล่านกชนหินเอาโหนกอีกครั้ง
“พรานที่เข้ามาล่านกชนหินในครั้งนี้ไม่ใช่พรานท้องถิ่นแน่นอน เพราะเราได้ทำงานอนุรักษ์นกเงือกร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มานานหลายปี จนชาวบ้านมีความตระหนักในการอนุรักษ์นกและสัตว์ป่า รวมถึงช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ในการสอดส่องคนแปลกหน้าที่อาจเข้ามาลักลอบล่าสัตว์หรือตัดไม้ในพื้นที่ อีกทั้งกระแสข่าวยังกล่าวตรงกันว่าพรานที่เข้ามามาจากตัวเมืองนราธิวาส” ปรีดากล่าว
อย่างไรก็ดี ปรีดาตั้งข้อสังเกตว่าจากรูปการณ์การก่อเหตุ สันนิษฐานได้ว่าพรานที่เข้ามาล่านกชนหินต้องเป็นพรานมืออาชีพที่รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี เพราะต้องรู้ชัดว่าต้องเข้าไปพื้นที่ไหนจึงจะพบนกชนหิน อีกทั้งยังต้องมีอิทธิพลในพื้นที่พอสมควร เพราะพื้นที่นราธิวาสยังเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งมีด่านตรวจความมั่นคงของเจ้าหน้าที่หลายด่าน จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พรานที่พกปืนยาวมาล่านกในเขตอุทยานจะสามารถเข้าออกพื้นที่และรอดพ้นสายตาเจ้าหน้าที่ไปได้
ดังนั้น ปรีดาจึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯออกลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบล่านกชนหินในพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง มิเช่นนั้นแล้วอาจเกิดการล่านกชนหินเอาโหนกซ้ำอีกครั้ง เพราะตอนนี้โหนกนกชนหินกำลังมีความต้องการและมีมูลค่าสูงมากในตลาดมืด
ชิ้นส่วน นกชนหิน
ตัวอย่างโพสต์การลักลอบซื้อขายชิ้นส่วนโหนกนกชนหินในโซเชียลมีเดีย //ขอบคุณภาพจาก: TRAFFIC
ด้านกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กาญจนา นิตยะ กล่าวว่าในประเด็นดังกล่าว ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนการจัดการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของการจัดการพื้นที่ เพิ่มเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังดูแลนกชนหินในพื้นที่ และจัดเจ้าหน้าที่ออกสำรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) โดยเน้นตรวจตราเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ที่พบนกชนหินอยู่อาศัย หากิน และทำรัง เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบล่านกชนหินเอาโหนก
นอกจากนี้ กาญจนากล่าวว่า ยังได้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานทั้งลักษณะตัว เสียงร้อง ลักษณะรังของนกชนหิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการออกลาดตระเวน ป้องกันการล่านกชนหิน พร้อมกับเพิ่มเครือข่ายเฝ้าระวังโดยการเปลี่ยนผู้ล่ามาเป็นผู้พิทักษ์โดยจ้างพรานที่เคยล่ามาเป็นทีมงานวิจัยด้วย
“กรมอุทยานฯยังได้ทำงานร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมตำรวจ กรมศุลกากรและหน่วยงานปกครอง ในการเฝ้าระวัง ปราบปราม และบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลในการติดตามการซื้อขายซากและผลิตภัณฑ์ของนกชนหินและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” กาญจนากล่าว
กาญจนาให้ข้อมูลว่า นกชนหิน หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhinoplax vigil เป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิด ของนกในวงศ์นกเงือกที่พบในประเทศไทย ถือเป็นสัตว์ในวงศ์นกเงือกที่มีความเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน นกเงือกโบราณชนิดนี้มีถิ่นอาศัยในป่าดงดิบ มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทางภาคใต้ตอนล่างของไทย เรื่อยไปจนถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
กระโหลก นกชนหิน
ภาพกระโหลกนกชนหินที่มีการนำมาประมูลขายในอินเตอร์เน็ต //ขอบคุณภาพจาก: TRAFFIC
นกชนหินมีสถานภาพเป็นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งตามการจัดลำดับของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) อีกทั้งยังอยู่ในบัญชี 1 ตามอนุสัญญาไซเตส ซึ่งห้ามการซื้อขายชิ้นส่วนของนกชนหินโดยเด็ดขาด โดยในประเทศไทยมีการประมาณการว่า มีประชากรนกชนหินอยู่ทั่วประเทศเพียงประมาณ 100 ตัวเท่านั้นกระจายในพื้นที่อนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง
โหนกของนกเงือกชนิดนี้จะประกอบด้วยเคราติน คล้ายกับนอแรดหรือเล็บของมนุษย์ มีลักษณะแข็งตันต่างจากนกเงือกทั่วไป มีสีสันสีเหลืองอมแดงเป็นเอกลักษณ์ จึงเป็นที่ต้องการของวงการนักสะสมชิ้นส่วนสัตว์ป่าแทนที่งาช้าง โดยมีชื่อที่เป็นที่รู้จักในหมู่เครือข่ายลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายว่า “หยกทองคำ” หรือ “งาช้างสีเลือด” ซึ่งหลังนำออกจากป่า และแปรรูปเป็นเครื่องราง เครื่องประดับ จะมีมูลค่าสูงถึงชิ้นละ 20,000 ถึง 30,000 บาท
อนึ่ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้สร้างแคมเปญรณงค์ออนไลน์ เรียกร้องให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้นกชนหินได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนตัวที่ 20 ของประเทศไทย และมีแผนการจัดการ อนุรักษ์ ปกป้องนกชนหินให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามต่างๆ รวมถึงกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการฟื้นฟูประชากรนกชนหินให้มีจำนวนมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 29 กันยายน มีผู้ลงชื่อกับแคมเปญรณรงค์นี้แล้วกว่า 3,300 คน
ผู้ที่สนใจร่วมรณรงค์ในแคมเปญดังกล่าวสามารถลงชื่อได้ที่ https://bit.ly/2oiU6Qs

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad