สศก. เผยอเมริกาตัด GSP ไม่กระทบสินค้าเกษตรส่งออกหลัก เชิญ USDA และ FAO ร่วมหารืออย่างสร้างสรรค์ เร่งปรับวิกฤติเป็นโอกาส ใช้หลักการตลาดนำการเกษตร - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สศก. เผยอเมริกาตัด GSP ไม่กระทบสินค้าเกษตรส่งออกหลัก เชิญ USDA และ FAO ร่วมหารืออย่างสร้างสรรค์ เร่งปรับวิกฤติเป็นโอกาส ใช้หลักการตลาดนำการเกษตร

สศก. เผยอเมริกาตัด GSP ไม่กระทบสินค้าเกษตรส่งออกหลัก เชิญ USDA และ FAO ร่วมหารืออย่างสร้างสรรค์ เร่งปรับวิกฤติเป็นโอกาส ใช้หลักการตลาดนำการเกษตร

          นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้สั่งการให้ สศก. วิเคราะห์และติดตามผลกระทบต่อสินค้าเกษตรและอาหารจากกรณีสหรัฐอเมริกาแจ้งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีสินค้า (GSP) จากประเทศไทย โดย สศก. ยืนยันว่า สินค้าเกษตรและอาหารหลักของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจะไม่ได้ผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวมากนัก และได้มีการ teleconference กับอัคราชทูตฝ่ายการเกษตรไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO กรุงโรม พร้อมกับได้เชิญผู้แทนกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา และ FAO เข้าพบภายในสัปดาห์หน้า 

          นายระพีภัทร์ เปิดเผยต่อไปว่า ในการตัดสิทธิ GSP ชั่วคราว ของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ยังคงเป็นการตัดสิทธิของสินค้าเพียงบางรายการ โดยจะเห็นว่าจากการประกาศตัดสิทธิ GSP คราวนี้ 573 รายการ เป็นสินค้าเกษตร (ภายใต้พิกัดศุลกากรตอนที่ 01-24) จำนวน 157 รายการ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้า ผักแปรรูป ผลไม้ตระกูลเบอรี่ ชาเขียว ขิงป่น หูฉลาม เส้นพาสต้า ผลไม้แปรรูป สำหรับกลุ่มประมงแปรรูปอื่นที่อาจจะถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ มิใช่กลุ่มพิกัดสินค้าประมงหลักที่ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา (ไม่ใช่สินค้ากุ้ง และปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งยังมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก) จึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของตลาดสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการดำเนินงานด้าน IUU ที่ประเทศไทยได้แสดงบทบาทนำในเรื่องการจัดการด้านประมงและต่อต้าน IUU ทั้งในประเทศและระดับโลก ตลอดจนได้รับการยกย่องจากเวทีสหประชาชาติ ให้เป็น Presidential case ในการแก้ไขปัญหา IUU เผยแพร่แนวปฏิบัติให้แก่ประเทศอื่นๆ ตามที่ รมว.กษ. ได้มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.กษ. เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมและนำเสนอแนวทางดำเนินงานเรื่องความร่วมมือต่อต้านประมงผิดกฎหมายระหว่างอาเซียนและแปซิฟิก ครั้งที่ 1 ในช่วงการประชุม UN Summit ณ นครนิวยอร์ก โดยได้ผลักดันให้จัดทำนโยบายประมงอาเซียน (ASEAN General Fisheries Policy) และการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนในการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย (ASEAN Network for combating IUU fishing) ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ในประเทศไทยด้วย
          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากการตัดสิทธิ GSP บางรายการอาจมีผลทำให้สินค้าเกษตรข้างต้นของไทยอาจจะได้รับผลกระทบด้านราคาขายที่สูงขึ้น เช่น สินค้าผลไม้แปรรูป (ซึ่งมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในปี 2561 ประมาณ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 4%-14%) และเส้นพาสต้า (ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในปี 2561 ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 6.4%)
          อนึ่ง สหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศคืนสิทธิ GSP ให้ไทยบางรายการในคราวนี้เช่นกัน ซึ่งมีสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ 1) ดอกกล้วยไม้ซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและเพาะพันธุ์กล้วยไม้ใหม่เข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น และ 2) โกโก้ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯ มีแผนผลักดันให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดสูง และประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกและสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการขยายการผลิตสินค้าดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้ส่งเสริมพันธ์โกโก้ที่มีคุณภาพและขยายพื้นที่เพาะปลูกตามหลักตลาดนำการเกษตรของ รมว.กษ. เพื่อเร่งปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส
          นายระพีภัทร์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า หลักสิทธิ GSP ถือเป็น "การให้ฝ่ายเดียว" ของประเทศที่พัฒนาแล้วต่อประเทศกำลังพัฒนา/ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และเนื่องจากการยกระดับการพัฒนาของไทย จึงมีการทบทวนการให้สิทธิฯ ทั้งการทบทวนแบบรายสินค้า (พิจารณาจากส่วนแบ่งการตลาด) และรายประเทศ (พิจารณาจากระดับการเปิดตลาดให้แก่สหรัฐอเมริกา การปฏิบัติด้านแรงงาน การปฏิบัติด้านทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ) ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารของไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยให้เป็นที่เชื่อถือของตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ จึงจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืน อีกทั้ง ตนได้ขอให้แต่ละส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้กลไกที่มีอยู่ เช่น อัคราชทูตฝ่ายการเกษตรไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO ณ กรุงโรม ติดตามและประชุมหารือกับฝ่ายสหรัฐอเมริกา อย่างใกล้ชิด พร้อมได้เชิญผู้แทนกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ประจำประเทศไทย เข้าหารือกับรักษาราชการเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในรายละเอียดภายในอาทิตย์หน้า เพื่อนำไปสู่ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad