พาณิชย์มั่นใจ! สหรัฐฯ ตัด GSP ไทยบางรายการ ยันมีสินค้าอื่นที่ส่งออกได้ดีทดแทน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

พาณิชย์มั่นใจ! สหรัฐฯ ตัด GSP ไทยบางรายการ ยันมีสินค้าอื่นที่ส่งออกได้ดีทดแทน

พาณิชย์มั่นใจ! สหรัฐฯ ตัด GSP ไทยบางรายการ ยันมีสินค้าอื่นที่ส่งออกได้ดีทดแทน


นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศจะตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรทางการค้า (GSP) ที่เคยให้ไทยบางรายการเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ว่า การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบคิดเป็นประมาณ 0.01% ของการส่งออกรวมของไทยเฉลี่ยรายปี แต่จะมีสินค้าบางรายการที่ใช้สิทธิมากที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่ารายการอื่น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ GSP ประเทศไทย (Country Review) 573 รายการ (40% จากจำนวนสินค้าที่ไทยใช้สิทธิในปี 61 รวม 1,485 รายการ) มีผลบังคับใช้ 25 เมษายน 2563 และมีการคืนสิทธิให้ไทย 7 รายการ เมื่อปี 2561 ไทยมีการใช้สิทธิ GSP เพียง 355 รายการ (จาก 573 รายการ) มูลค่า 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการใช้สิทธิเฉลี่ย 66.7% อาทิ อาหารทะเลแปรรูป พาสต้า ถั่วชนิดต่างๆ แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ซอสถั่วเหลือง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องครัวและของใช้ในบ้าน มอเตอร์ไฟฟ้า เหล็กแผ่นและสเตนเลส เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ตกปลา
ทั้งนี้ การถูกตัดสิทธิ GSP ทำให้ต้นทุนส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50.33 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากสินค้าไทยกลุ่มนี้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.5% (อ้างอิงจากอัตรา MFN rate ของสหรัฐฯ ปี 2561) อย่างไรก็ดี ทางสนค. ประเมินว่า การถูกตัดสิทธิ GSP ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างจำกัด อัตราภาษีที่สูงขึ้นอาจทำให้มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ สำหรับสินค้ากลุ่มที่โดนตัดสิทธิในปี 2563 (เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้) ลดลงมูลค่า 28.8 – 32.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.01% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย
นอกจากนี้ การส่งออกไทยที่มีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต อาทิ เครื่องนุ่งห่มรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน จะช่วยยังสนับสนุนการส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐฯ ต่อไปได้ แต่การถูกตัด GSP ทำให้ความได้เปรียบด้านต้นทุนภาษีหมดไป และไทยจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น การรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการส่งเสริมการส่งออกและการตลาดเชิงรุก เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด
กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด (มีการพึ่งพาสิทธิ GSP มากกว่า 50% และส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 10%) ได้แก่ คอนโซล โต๊ะและฐานรองอื่น ๆ ที่ติดตั้งด้วยเครื่องอุปกรณ์ (HS8537) รถจักรยานยนต์ (HS8711) แว่นสายตาหรือแว่นกันลม/กันฝุ่น (HS9004) หลอดหรือท่ออ่อนทำจากยางวัลแคไนซ์ (HS4009) อ่างล้างหน้า (HS6910) เครื่องสูบของเหลว (HS8413) สารเคลือบผิว Epoxy Resin (HS3907) เครื่องสูบลมหรือสูบสูญญากาศ (HS8414) อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช (HS1904) ยางนอกชนิดอัดลม (HS4011) หากไทยสามารถกระจายความเสี่ยงส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิไปยังตลาดอื่นๆ ได้ จะช่วยลดกระทบต่อการส่งออกไทยได้
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad