“พาณิชย์”เผยจีนนำเข้าเครื่องสำอางเบอร์ 1 ของโลก ชี้สินค้าไทยหลายตัวมีโอกาสส่งออกเพิ่ม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“พาณิชย์”เผยจีนนำเข้าเครื่องสำอางเบอร์ 1 ของโลก ชี้สินค้าไทยหลายตัวมีโอกาสส่งออกเพิ่ม

“พาณิชย์”เผยจีนนำเข้าเครื่องสำอางเบอร์ 1 ของโลก ชี้สินค้าไทยหลายตัวมีโอกาสส่งออกเพิ่ม

img
“พาณิชย์”กางผลศึกษาการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของจีน พบนำเข้ามากเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 18.6% ของการนำเข้าทั้งโลก นิยมผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้ามากที่สุด รองลงมาผลิตภัณฑ์สำหรับผม ดับกลิ่นตัว ใช้ในช่องปาก ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 14 ของจีน ชี้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า ผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน และสบู่ มีโอกาสส่งออกเพิ่ม และควรใช้ช่องทางออนไลน์เปิดตลาด

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลการศึกษา “การนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของจีนและโอกาสทางการค้าของไทย” ว่า ในช่วง 9 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ย.) จีนมีการนำเข้าเครื่องสำอางมากเป็นอันดับ 1 ของโลก มีมูลค่า 12,220 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนคิดเป็น 18.6% ของการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของโลก เพิ่มขึ้น 30.6% โดยแหล่งนำเข้าสำคัญของจีนมาจาก 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ มีสัดส่วนรวมกัน 75% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจีนมีการกระจุกตัวของแหล่งนำเข้าค่อนข้างสูง

สำหรับสินค้าเครื่องสำอางที่จีนนิยมนำเข้า พบว่า มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้ามากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 9,690.14 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 80% ของการนำเข้าเครื่องสำอางของจีน เพิ่มขึ้น 33.6% โดยชาวจีนนิยมแบรนด์พรีเมี่ยมจากต่างประเทศ รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์สำหรับผม มีมูลค่าการนำเข้า 529.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 37.7% โดยนำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มากที่สุด ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ใช้ดับกลิ่นตัว น้ำหอม สบู่ และผลิตภัณฑ์ใช้ในช่องปาก มีมูลค่าการนำเข้า 484.2 417.2 325.6 และ 217.2 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ

ส่วนมณฑลหลักของจีน ที่มีการนำเข้าเครื่องสำอาง พบว่า กระจุกตัวใน 3 มณฑล คือ เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง และเจ้อเจียง คิดเป็น 72.1% ของการนำเข้าเครื่องสำอางทั้งหมด โดยเซี่ยงไฮ้ นำเข้า 5,497.24 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 43.2% เพิ่มขึ้น 54.4% จากปัจจัยของการมีรายได้สูงและมีประชากรวัยรุ่นและวัยทำงานมากถึง 18.2 ล้านคน รองลงมา คือ กวางตุ้ง มีการนำเข้า 2,055 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 16.2% เพิ่มขึ้น 126.2% และเจ้อเจียง นำเข้า 1,608.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 12.7% เพิ่มขึ้น 113.3%

ขณะที่มณฑลอื่นๆ ยังมีการนำเข้าไม่มากนัก แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านรายได้และโครงสร้างจำนวนประชากรวัยทำงานมาก คาดว่ามณฑลต่างๆ จะมีการนำเข้ามากขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกเครื่องสำอางของไทยเพิ่มเติมนอกเหนือจากหัวเมืองหลักข้างต้น ได้แก่ เทียนจิน ซึ่งมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 3 ของจีน และมีประชากรวัยรุ่นและทำงาน 12 ล้านคน เจียงซู มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 4 ของจีน และมีวัยทำงานและวัยรุ่นมากถึง 57 ล้านคน และซานตง มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 8 ของจีน และมีวัยทำงานและวัยรุ่นประมาณ 67 ล้านคน ตามลำดับ

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางอันดับ 14 ของจีน มีมูลค่าการนำเข้า 145.28 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาด 0.9% สินค้าเครื่องสำอางที่จีนนำเข้าจากไทยมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า มีมูลค่าการนำเข้า 85.97 ล้านเหรียญสหรับ รองมา คือ ผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน และ ผลิตภัณฑ์สำหรับผม โดยมีมูลค่านำเข้า 32.18 และ 10.29 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ

นอกจากนี้ จากการศึกษา พบว่า สินค้าเครื่องสำอางที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีน พิจารณาจากค่าความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (RCA) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน (ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของจีน มีส่วนแบ่งตลาด 14.8% เพิ่มขึ้น 13.7% และสบู่ (ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 10 ของจีน มีส่วนแบ่งตลาด 2.4% เพิ่มขึ้น 111% ซึ่งจีนมีมูลค่าการนำเข้าสบู่จากไทย 7.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

“จีนเป็นตลาดเครื่องสำอางที่มีการเติบโตสูงมาก เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะพัฒนาศักยภาพและขยายช่องทางการส่งออกสินค้าที่ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงอยู่แล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน และสบู่ โดยควรส่งเสริมให้มีส่งออกไปยังตลาดจีนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งมณฑลหลักและมณฑลรอง ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปได้ดี แต่ขีดความสามารถในการแข่งขันยังไม่สูงนัก เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า และผลิตภัณฑ์สำหรับผม ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค สินค้าของประเทศคู่แข่งที่ได้รับความนิยมกว่า เพื่อเป็นประโยชน์ในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนเป็นช่องทางจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าให้มากขึ้น”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad