ชาวบ้านเหมืองทองเสียงแตก ฟังเสียงหนุน – ค้าน ประเด็นเปิดเหมืองอัครารอบใหม่ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ชาวบ้านเหมืองทองเสียงแตก ฟังเสียงหนุน – ค้าน ประเด็นเปิดเหมืองอัครารอบใหม่

ชาวบ้านเหมืองทองเสียงแตก ฟังเสียงหนุน – ค้าน ประเด็นเปิดเหมืองอัครารอบใหม่


ยื่นหนังสือ เหมืองทอง
กลุ่มต่อต้านการเปิดเหมืองทองอัคราเข้ายื่นหนังสือต่อ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม //ขอบคุณภาพจาก: วันเพ็ญ พรมรังสรรค์
แกนนำกลุ่มต้านเหมืองทองคำบุกกรุงเทพมหานคร ร้องนายกฯสั่งถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีอนุญาตเปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร อีกครั้ง เพื่อไกล่เกลี่ยคดีความในชั้นอนุญาโตตุลาการกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ด้านชาวบ้านฝั่งสนับสนุนเหมืองทองยินดี เพราะมองว่าเศรษฐกิจท้องที่จะดีขึ้นหากมีการเปิดเหมืองอีกครั้ง
จากกระแสข่าวที่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ มีแผนอนุญาตให้เหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของคิงส์เกตในประเทศไทย เปิดดำเนินการอีกครั้ง เพื่อหาทางออกต่อกรณีที่บริษัทเหมืองสัญชาติออสเตรเลีย คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ฟ้องร้องรัฐบาลไทยต่อศาลอนุญาโตตุลาการ กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว สั่งปิดเหมืองทองคำเมื่อปี พ.ศ.2559 ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมต่อกรณีนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมืองทองคำชาตรีในอ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และอ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซี่งเป็นผู้ได้รับยผลกระทบโดยตรงต่อกรณีดังกล่าว
โดยทางฝั่งกลุ่มต่อต้านเหมืองทองนำโดย วันเพ็ญ พรมรังสรรค์ กล่าวว่า กลุ่มชาวบ้านที่ต่อต้านแผนการเปิดเหมืองทองชาตรีขึ้นใหม่อีกครั้ง จำนวนราว 50 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือให้กับอัยการสูงสุด ประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยมีจ้อเรียกร้องทั้งหมด 3 ประเด็น ได้แก่
  1. ให้นายกรัฐมนตรีสั่งปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ออกจากตำแหน่ง จากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการเอาผิดกับบริษัทอัครา รีซอร์สเซส
  2. ให้มีการไต่สวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จำนวน 9 ท่าน กรณีละเว้นการสอบสวนคดีเหมืองแร่ทองคำ
  3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมไต่สวนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีไม่ดำเนินการสืบสวนการกระทำผิดของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จากการะรุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวงเพื่อขุดแร่ทองคำ
“เราเห็นว่าการที่รัฐมนตรีสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จะเจรจาเพื่อให้มีการเปิดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรีอีกครั้ง ถือเป็นการสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องต่อลนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และอัยการสูงสุด ให้ดำเนินการเอาผิดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นก่ารรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ” วันเพ็ญ กล่าว
ในขณะที่ ธัญญารัศมิ์ สินทรธรรมทัช ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของเหมืองทอง กล่าวว่า จากการที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการดำเนินการใดๆเพื่อฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมหลังมีคำสั่งปิดเหมืองทองในเดือนธันวาคม พ.ศ.2559 อีกทั้งการให้การช่วยเหลือชาวบ้านให้เข้าถึงอาหารและน้ำดื่มที่ปลอดภัยโดยหน่วยงานในจังหวัดพิจิตรได้หยุดไปโดยสิ้นเชิงนับตั้งแต่มีการปิดเหมือง ทำให้ชาวบ้านและผู้ป่วยจากการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมได้รับความลำบากในการใช้ชีวิตอย่างมาก จนตนมีความเห็นว่าหากมีการเปิดเหมืองทองอีกครั้งแต่ต้องมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง และมีแผนในการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนรอบเหมือง ตนเองก็รับได้หากเหมืองทองชาตรีเปิดดำเนินการอีกครั้ง
“เราเข้าใจว่ารัฐบาลไทยมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะแพ้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ และอาจต้องเสียเงินกว่า 30,000 ล้านบาทเพื่อชดเชยให้แก่บริษัทคิงส์เกท ดังนั้นหากรัฐบาลมีแผนในการบังคับให้บริษัทต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง และดูแลผลกระทบต่อประชาชนรอบเหมือง การเปิดเหมืองก็ยังเป็นทางที่พอรับได้” ธัญญารัศมิ์ กล่าว
“อย่างไรก็ดี หากไม่มีการดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง การเปิดเหมืองอีกครั้งจะเป็นการยิ่งซ้ำเติมความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านรอบเหมืองยิ่งตกอยู่ในอันตรายจากการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
เหมืองทอง
ภาพการทำเหมืองในเหมืองทองคำชาตรีก่อนการปิดเหมืองทอง / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
ธัญญารัศมิ์ ยังให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบได้ร้องต่อศาลแพ่งเพื่อฟ้องร้องบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ให้ชดเชยค่าเสียหายจำนวนราว 500 ล้านบาท เพื่อเยียวยาการเจ็บป่วยของชาวบ้านรอบเหมืองใน เครือข่ายผู้ป่วยรอบเหมืองทองจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ จำนวน 362 คน จากการรับสารปนเปื้อนจากการทำเหมืองทองอาทิ แมงกานีส สารหนู และไซยาไนด์ ในสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดศาลแพ่งมีคำสั่งอนุญาตให้เครือข่ายดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ แต่เครือข่ายจะต้องวางเงินศาลจำนวน 100,000 บาท ภายใน 7 วัน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี
ในขณะที่ชาวบ้านฝั่งสนับสนุนเหมืองทอง สุรชาติ หมุนสมัย กล่าวว่า ชาวบ้านจำนวนมากที่สนับสนุนเหมืองรู้สึกยินดีที่รัฐมนตรีสุริยะมีแผนที่จะอนุญาตให้เหมืองทองคำชาตรีเปิดดำเนินการอีกครั้ง เพราะจะทำให้เศรษฐกิจในท้องที่กลับมาคึกคักอักครั้ง ภายหลังจากการปิดเหมือง ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องตกงาน เศรษฐกิจในท้องถิ่นซบเซา จนคนหนุ่มสาวในพื้นที่ต้องอพยพไปหางานทำในเมือง
เมื่อถามถึงความกังวลต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง สุรชาติ ยืนยันว่า ชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแต่อย่างใด เพราะเหมืองไม่เคยก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านการทำเหมืองทองต่างเป็นบุคคลจากนอกพื้นที่ทั้งสิ้น
อนึ่ง กระบวนการเบิกความต่อหน้าอนุญาโตตุลาการในคดีฟ้องร้องของบริษัทคิงส์เกทต่อรัฐบาลไทยจะมีขึ้นที่ ฮ่องกง ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad