กรมพัฒน์ฯ ดันฉลุย ใช้ “ไม้ยูคาลิปตัส” เป็นหลักประกันทางธุรกิจ กู้เงินจากแบงก์ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กรมพัฒน์ฯ ดันฉลุย ใช้ “ไม้ยูคาลิปตัส” เป็นหลักประกันทางธุรกิจ กู้เงินจากแบงก์

กรมพัฒน์ฯ ดันฉลุย ใช้ “ไม้ยูคาลิปตัส” เป็นหลักประกันทางธุรกิจ กู้เงินจากแบงก์

img

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าถกสถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เดินหน้าผลักดัน “ไม้ยูคาลิปตัส” ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจกู้เงินจากแบงก์ เหตุเป็นไม้โตเร็ว มีรอบตัดฟันสั้น เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ราคาคงที่ เผยภาคเอกชนที่ใช้ไม้ยินดีช่วยรับรองเกษตรกรผู้ปลูกที่อยู่ในคอนแทรก ส่วนแบงก์พร้อมหนุน ตั้งเป้าปี 63 เห็นผล      
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือแนวทางการส่งเสริมการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ร่วมกับผู้แทนจากสถาบันการเงิน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย ไทยพาณิชย์ ธนชาต และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว สมาคมการค้าชีวมวลไทย บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด บริษัท ยูคาลิปตัสเทคโนโลยี จำกัด และนักวิชาการป่าไม้เอกชน เพื่อพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการนำไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ปัญหาอุปสรรคในการให้สินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน รวมถึงความเป็นไปได้ในการนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ
        
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า จะนำร่อง “ไม้ยูคาลิปตัส” มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นประเภทไม้โตเร็วที่มีรอบตัดฟันสั้น มีระยะเวลาการตัด 3-5 ปี และเป็นที่ต้องการของตลาดไม้ทั้งในและต่างประเทศสูง ราคาซื้อขายค่อนข้างคงที่ รวมถึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเมื่อตัดมาเพื่อใช้งานแล้ว ต้นสามารถแตกหน่อและเติบโตได้ถึง 3 ครั้ง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาพันธุ์มาเพาะปลูก แต่ยังมีปัญหา คือ เกษตรกรที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสใน 5 ปีแรกจะยังไม่มีรายได้ เพราะรอบตัดฟันประมาณ 5 ปี แต่ถ้าสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเหล่านี้ได้ จะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว
        
“การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด (ธุรกิจในเอสซีจีแพคเกจจิ้ง) ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มาจากต้นไม้ ยินดีคัดกรองเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสให้กับสถาบันการเงินในกรณีที่นำต้นยูคาลิปตัสมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เบื้องต้นขอนำร่องกับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับทางบริษัทก่อน เนื่องจากมีตัวตนที่ชัดเจนและมีไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ การติดตาม และง่ายต่อการนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งสถาบันการเงินก็เห็นด้วย และจะนำเรื่องนี้ไปหารือในรายละเอียดก่อน เพราะสถาบันการเงินอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกรมฯ ตั้งเป้าว่าสถาบันการเงินพร้อมที่จะรับไม้ยูคาลิปตัสเป็นหลักประกันทางธุรกิจประมาณต้นปี 2563 แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถาบันการเงินเป็นหลักด้วย”นายพูนพงษ์กล่าว
        
ปัจจุบัน มีเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับบริษัท สยามฟอเรสทรี ประมาณ 1 แสนราย แบ่งเป็นรายใหญ่ ปลูกไม้ยูคาลิปตัส ตั้งแต่ 20 ไร่ขึ้นไป ประมาณ 3 หมื่นราย และรายย่อย ปลูกไม้ยูคาลิปตัส น้อยกว่า 20 ไร่ ประมาณ 7 หมื่นราย ซึ่งหากการดำเนินการประสบความสำเร็จ ไม่เพียงแต่สถาบันการเงิน จะรับไม้ยูคาลิปตัสเป็นหลักประกันทางธุรกิจ แต่ยังจะขยายไปยังผู้ประกอบการอื่นที่มีการใช้ประโยชน์จากไม้ยูคาลิปตัสที่จะเข้ามาช่วยรับรองเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้น
        
ล่าสุด (4 ก.ค.2559-30 ต.ค.2562) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 457,140 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 7,236,268 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 51.82 (มูลค่า 3,749,943  ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็นร้อยละ 26.54 (มูลค่า 1,920,280 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็นร้อยละ 21.60 (มูลค่า 1,563,257 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.03 (มูลค่า 1,985 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.01 (มูลค่า 536 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 138 ล้านบาท) และไม้ยืนต้น คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 129 ล้านบาท) โดยมีผู้รับหลักประกันรับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 35 สัญญา เป็นไม้ประเภทสัก ยาง ยางพารา และยูคาลิปตัส จำนวน 78,105 ต้น ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ และศรีสะเกษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad