ท็อปสั่งลุย รมต.สิ่งแวดล้อมไฟแรง ประกาศแก้ปัญหาขยะพลาสติก เปลี่ยนกรุงเทพฯเป็นเมืองสีเขียว - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ท็อปสั่งลุย รมต.สิ่งแวดล้อมไฟแรง ประกาศแก้ปัญหาขยะพลาสติก เปลี่ยนกรุงเทพฯเป็นเมืองสีเขียว

ท็อปสั่งลุย รมต.สิ่งแวดล้อมไฟแรง ประกาศแก้ปัญหาขยะพลาสติก เปลี่ยนกรุงเทพฯเป็นเมืองสีเขียว


กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา จัดเวทีเสวนาพบปะพูดคุย ถกประเด็นสิ่งแวดล้อมกับชาวกรุงเทพ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน //ขอบคุณภาพจาก: ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ประกาศเดินหน้า 3 นโยบายใหญ่สิ่งแวดล้อม ย้ำจะทำงานใกล้ชิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ และเอกชน ตั้งเป้าแก้ปัญหาขยะพลาสติกครบวงจร ยกระดับชีวิตคนเมือง สร้างกรุงเทพฯเป็นเมืองสีเขียวภายในปี พ.ศ. 2573
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมป้ายแดง (ท็อป) วราวุธ จัดเวทีเสวนาพบปะพูดคุย จิบกาแฟ กับเครือข่ายนักสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และชาวเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อถกปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ หวังปลุกกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
วราวุธ กล่าวว่า ประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนคือการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก และปัญหาขยะในทะเล ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมรุนแรงมากที่สุดปัญหาหนึ่งของประเทศ นำไปสู่ปัญหามลพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะพลาสติกอย่างไม่ถูกต้อง และเป็นต้นเหตุให้สัตว์ทะเลหายากเช่น เต่าทะเล วาฬ และพะยูน ตายเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าขณะนี้หลากภาคส่วนในประเทศตื่นตัวและเร่งแก้ปัญหานี้ จนทำให้ไทยหลุดจากอันดับ 6 ในลิสต์ประเทศที่ก่อขยะในมหาสมุทรมากที่สุดเรียบร้อยแล้ว แต่วราวุธระบุว่า ปัญหาดังกล่าวยังคงรุนแรงอย่าง และจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหันมาร่วมมือกันในการแก้ปัญหานี้
“ตอนนี้เราทำได้ดีขึ้น จนหลุดจากตำแหน่งประเทศอันดับ 6 ที่ปล่อยขยะลงทะเลมากที่สุดไปอยู่ที่อันดับ 10 แล้ว โดยในปี 2563 เราจะเริ่มต้นไม่แจกถุงพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อชั้นนำทั่วประเทศ ตอนนี้เรามีการเริ่มรณรงค์กันเรื่อยๆให้ประชาชนรับรู้ถึงปัญหา รวมถึงเตรียมตัวพกถุงผ้าไปชอปปิ้งตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป” วราวุธ กล่าว
“คนเราเสพติดความสะดวกสบาย จนลืมนึกไปว่าก่อนหน้านั้นเราก็อยู่ได้โดยไม่ได้ใช้พลาสติก เราเคยใช้ใบตองพันด้วยเชือกกล้วยมาก่อน ถึงเวลาที่เราจะต้องหันกลับไปใช้ของเก่า ซึ่งอาจยุ่งยาก ไม่สะดวกสบายบ้าง แต่ก็อยากให้ปรับเปลี่ยนกัน”
ขยะพลาสติก
เขาย้ำว่า การแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน จำเป็นที่ต้องประสานความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อให้สามารถประสานความร่วมมือในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เช่น ทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อออกนโยบายสนับสนุนการลดใช้และกำจัดขยะพลาสติก หรือร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสรรหาวัตถุดิบทดแทนพลาสติก และพัฒนานวัตกรรมในการจัดการขยะพลาสติก เช่น การนำขยะพลาสติกมาเข้าสู่กระบวนการ upcycling เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกเหล่านี้ให้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าชิ้นใหม่ หรือการนำพลาสติกเหลือใช้มากลั่นเป็นน้ำมัน
วราวุธยังกล่าวย้ำว่า การจัดการขยะพลาสติก นอกจากจะต้องเน้นหลักการ 3R (Reduce, Reuse, Recycle) หรือการลดใช้ นำกลับมาใช้ซ้ำ และรีไซเคิลพลาสติก เราควรจะปฏิบัติเพิ่มอีก 1 R คือ Rethink เราต้อมีการคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อให้ลดการผลิตขยะ ปรับเปลี่ยนขยะให้มีประโยชน์
“ความร่วมมือจากภาคประชาชนก็มีส่วนสำคัญเช่นกันในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในไทยอย่างยั่งยืน โดยวราวุธกล่าวว่า เราจะต้องมีการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเด็กรุ่นใหม่ เช่น รื้อฟื้นให้มีการทำเวรหลังเลิกเรียน จะได้ทำให้เด็กๆมีจิตสำนึกเรื่องการรักษาความสะอาด รักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะตอนนี้คนไทยหลายๆคนนอกจากจะไม่แยกขยะแล้ว ยังทิ้งขยะเกลื่อนกลาดไม่ลงถังเลย” วราวุธกล่าว
“เนื่องในโอกาสเทศกาลลอยกระทงที่กำลังจะมาถึงในวันจันทร์นี้ (11 พฤศจิกายน) อยากจะขอร้องให้ประชาชนอย่าทำบาปก่อนทำบุญ โดยอยากจะรณรงค์ให้แต่ละครอบครัวลอยกระทงเพียงใบเดียวก็พอ เพราะแม้ว่ากระทงบางชนิดจะสามารถย่อยสลายได้ แต่ปริมาณกระทงจำนวนมากที่ประชาชนลอยลงสู่แม่น้ำจะกลายเป็นขยะ สุดท้ายจะพัดลงทะเล กลายเป็นขยะทะเล”
นอกเหนือจากประเด็นปัญหาขยะพลาสติก รัฐมนตรีวราวุธ ยังได้เปิดเผยว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังมีแนวนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯตามเป้าหมาย Green Bangkok 2030เพื่อที่จะเป็นการแก้ปัญหามลพิษในเมือง และยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง ภายในปีพ.ศ. 2573
“แม้ว่าการสร้างสวนสาธารณะในกรุงเทพจะทำได้ค่อนข้างยาก หากแต่เรายังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกต้นไม้ เพื่อเติมพื้นที่สีเขียวในกับเมือง เช่น ตามตอม่อทางด่วน สะพานลอย หรือรถไฟฟ้า ซึ่งได้มีการนำร่องไปแล้วบางส่วนเช่น การปลูกต้นไม้เลื้อยที่ตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิท อย่างไรก็ดีต้องมีการตรวจสอบทางวิศวกรรมให้ดี เพื่อป้องกันผลกระทบต่อโครงสร้างสิ่งก่อสร้าง” วราวุธ กล่าว
“เราไม่อยากทำเป็นไฟไหม้ฟาง จะต้องมีการทำเป็นระบบให้มีความยั่งยืน ความร่วมมือกับภาคเอกชนถือเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการดูแลให้อยู่รอดได้ ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณจากภาคเอกชน ที่จะถือว่าเป็นการ CSR ให้องค์กรนั้นๆด้วย“
สำหรับประเด็นเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ เขาเปิดเผยว่า กระทรวงฯมีแนวทางที่จะส่งเสริมการปลูกป่าผ่านการอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกไม้หายากเช่น พะยูง สัก มะค่า และสามารถตัดขายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อประชาชนสามารถปลูกและตัดขายไม้มีค่าได้ สามารถทำเงินได้จำนวนมหาศาล พวกเขาก็จะหันมาปลูกไม้เหล่านี้กันมากขึ้นเพื่อนำมาขายในอนาคต เป็นการทำให้เกิดป่าเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการปลูกทดแทนเรื่อยๆ
เขากล่าวเสริมว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้รักษาป่าให้เป็นป่าชุมชน ที่ชาวบ้านจะเป็นผู้ดูแลและสามารถใช้ประโยชน์จากป่าส่วนนี้ได้ ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลได้มีกฎหมายมารองรับแล้วนั่นคือ พรบ.ป่าชุมชน ซึ่งสนับสนุนให้ชุมชนสร้างป่า และอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยมีตัวอย่างแล้วทั่วประเทศ
“จากเหตุไฟไหม้ป่าอเมซอนครั้งใหญ่ในปีนี้ ทำให้เราตระหนักว่าต้นไม้ทุกต้นมีความสำคัญ ซึ่งประเทศไทยเองได้มีการตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 10 ล้านต้น และตอนนี้เราประสบความสำเร็จอย่างเกินความคาดหมาย โดยสามารถปลูกต้นไม้ได้ถึง 12 ล้านแล้ว ดังนั้นนับจากนี้เรามุ่งไปปลูกต้นไม้ให้ได้ 100 ล้านต้น ภายในเวลา 3 ปี เพราะฉะนั้นจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนปลูกต้นไม้คนละต้น เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน” วราวุธกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad