กกบ.ยันไม่เลื่อนมาตรฐานการบัญชี TAS 32 แต่ผ่อนผันหุ้นกู้คล้ายทุนเป็นส่วนหนึ่งของทุนได้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กกบ.ยันไม่เลื่อนมาตรฐานการบัญชี TAS 32 แต่ผ่อนผันหุ้นกู้คล้ายทุนเป็นส่วนหนึ่งของทุนได้

กกบ.ยันไม่เลื่อนมาตรฐานการบัญชี TAS 32 แต่ผ่อนผันหุ้นกู้คล้ายทุนเป็นส่วนหนึ่งของทุนได้

img
คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ยันมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 32 (TAS 32) ยังคงบังคับใช้ 1 ม.ค.63 เหมือนเดิม แต่ผ่อนผันให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือ Perpetual Bond ยังคงแสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของทุนได้ต่อไป ไม่เกิน 3 ปี ป้องกันผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ พร้อมย้ำต้องเร่งบริหารจัดการหุ้นดังกล่าวให้ตรงตามมาตรฐานการบัญชีโดยเร็ว   
        
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กกบ. ได้มีมติผ่อนผันให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) ที่มีการเสนอขายและได้รับชำระค่าหุ้นกู้นั้นก่อนวันที่ 31 ธ.ค.2562 แสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของทุนต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ 1 ม.ค.2563 หลังจากที่มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 32 (TAS 32) เรื่องการแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน ได้กำหนดกรณีที่กิจการมีการออกหุ้นกู้ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือการเงินชนิดหนึ่ง ผู้ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน ต้องแสดงเป็นหนี้สินหรือทุน ขึ้นอยู่กับภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายชำระในอนาคต เช่น แสดงเป็นหนี้สิน หากเป็นหุ้นกู้ที่กิจการต้องจ่ายชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยก่อนการชำระบัญชีหรือก่อนเลิกกิจการ และแสดงเป็นทุน หากเป็นหุ้นกู้ที่กิจการชำระคืนเมื่อเลิกกิจการ

โดยในปัจจุบันมีบริษัทออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน ซึ่งมีข้อกำหนดที่อาจจะตีความได้ว่าผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนการชำระบัญชีหรือได้รับชำระคืนก่อนเลิกกิจการ โดยมาตรฐานการบัญชีปัจจุบัน บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ดังกล่าวสามารถแสดงรายการในงบการเงินเป็นทุนได้ แต่เมื่อ TAS 32 มีผลบังคับใช้ บริษัทต้องจัดประเภทรายการใหม่เป็นหนี้สินในงบการเงินทันที เนื่องจากไม่เข้าลักษณะการแสดงรายการเป็นทุนตาม TAS 32 อีกต่อไป ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ทันที คือ ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพิ่มสูงขึ้น ผู้ออกหุ้นกู้อาจผิดเงื่อนไขทางการเงิน (Financial Covenant) จนอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ส่งผลให้การระดมทุนทำได้ยากขึ้น และอาจประสบปัญหากระแสเงินสดในอนาคต จึงต้องมีการผ่อนผันดังกล่าว
        
“กกบ. ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบ จึงมีมติให้ออกแนวทางปฏิบัติสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านมาตรฐานการบัญชี โดยผ่อนผันให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน ที่มีการเสนอขายและได้รับชำระค่าหุ้นกู้ก่อนวันที่ 31 ธ.ค.2562 อาจเลือกแสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของทุนต่อไปอีกได้ แต่ไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ 1 ม.ค.2563 เพื่อให้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีเวลาเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการที่จำเป็น เช่น การเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ การไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและออกหุ้นกู้ใหม่ทดแทน เป็นต้น”
        
ทั้งนี้ บริษัทที่เลือกแสดงรายการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทุน ต้องเปิดเผยเหตุผลที่เลือกแสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของทุน และผลกระทบต่อทุกรายการในงบการเงิน หากต้องแสดงรายการดังกล่าวเป็นหนี้สินในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
        
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 (TAS 32) เรื่อง การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน ยังคงบังคับใช้ตามกำหนดเวลาเดิม คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป เพราะมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ จะให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการแสดงรายการในงบการเงินของกลุ่มเครื่องมือทางการเงินทั้งหมด โดย กกบ. คาดหวังว่ามาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยจะใช้เต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ หรือ IFRS : International Financial Reporting Standards ที่ใช้ในการจัดทำงบการเงินเป็นมาตรฐานเดียวกันกับอีก 140 ประเทศทั่วโลก เป็นการยกระดับมาตรฐานการจัดทำรายงานทางการเงินของไทยและส่งเสริมให้รายงานทางการเงินของไทยมีความน่าเชื่อถือ โปร่งใสในสายตาของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง รองรับการเปิดการค้าเสรีของโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad