สารัชถ์ รัตนาวะดี แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 2562 รวย 1.21 แสนล้านบาท - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สารัชถ์ รัตนาวะดี แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 2562 รวย 1.21 แสนล้านบาท

สารัชถ์ รัตนาวะดี แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 2562 รวย 1.21 แสนล้านบาท

สารัชถ์ รัตนาวะดี แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 2562 รวย 1.21 แสนล้านบาท

เศรษฐีหุ้นปีแรก อันดับ 2 นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ถือหุ้นโรงพยาบาลกรุงเทพ-นนทเวช-บางกอกแอร์เวย์ส รวมมูลค่า 6.61 หมื่นล้านบาท อันดับ 3 นิติ โอสถานุเคราะห์ นักลงทุนรายใหญ่ทายาทโอสถสภา รวย 4.86 หมื่นล้านบาท ด้านเจ้าสัวเจริญ & คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นหน้าใหม่ IPO
          ปีนี้เป็นปีที่ 26 แล้ว ที่ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2562

สารัชถ์ รัตนาวะดี แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 2562 รวย 1.21 แสนล้านบาท

          สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2562 ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2562 ปรากฏว่า ทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยปี 2562 ได้ต้อนรับแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยคนใหม่ สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF โดยสารัชถ์ถือครองหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 120,960 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 63,315 ล้านบาท หรือ 109.84% ซึ่งหุ้นที่ สารัชถ์ถือครองมีเพียง 1 บริษัทคือ GULF โดยถือหุ้นสูงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 35.44%
          ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปีที่ GULF เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาหุ้น GULF ได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง จากราคาเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) ที่ 45 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 76.25 บาท ณ 30 กันยายน 2561 และทะยานขึ้นมาอยู่ที่ 160 บาท ณ 30 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ใช้คำนวณมูลค่าความมั่งคั่งเศรษฐีหุ้นไทยปี 2562 โดยราคาปรับเพิ่มขึ้นถึง 83.75 บาท หรือ 109.84% ส่งผลให้สารัชถ์ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ GULF ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2562 หลังจากเข้ามาเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้ว
          เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ หมอเสริฐ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพและสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ถือครองหุ้นมูลค่ารวม 66,110.64 ล้านบาท รวยลดลง 11,018.68 ล้านบาท หรือ 14.29% ความมั่งคั่งของหมอเสริฐที่ลดลงในปีนี้ เนื่องมาจากหุ้นที่หมอเสริฐถือครองทั้ง 3 บริษัท คือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS), บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) และ บมจ.โรงพยาบาลนนทเวช (NTV) ราคาตกลงจากปีที่แล้ว โดยหมอเสริฐเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 6 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2556- 2561
          เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ได้แก่ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา นิติ โอสถานุเคราะห์ ก้าวจากอันดับ 7 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 48,613.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,648.61 ล้านบาท หรือ 52.08% นอกจากพอร์ตหุ้นที่ลงทุนมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ปีนี้นิติยังถือครองหุ้น บมจ.โอสถสภา (OSP) ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 โดยนิติเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ในสัดส่วน 16.28%
          เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ขยับจากอันดับ 9 เมื่อปีที่แล้ว โดยหุ้นที่คีรีถือครองรวมมูลค่าทั้งสิ้น 43,080.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,708.42 ล้านบาท หรือ 51.84% เนื่องจากราคาหุ้น BTS และ บมจ.วี จี ไอ โกบอล มีเดีย (VGI) ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีที่แล้ว
          เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ได้แก่ สมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หล่นจากอันดับ 3 เมื่อปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 42,084.25 ล้านบาท ลดลง 125.16 ล้านบาท หรือ 0.30%
          เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 ได้แก่ วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการกลุ่มบริษัท ทีโอเอ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA โดยมีมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 41,055.30 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 34,162.15 ล้านบาท หรือ 495.60% จากการเข้าลงทุนเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้อม (Backdoor Listing) ใน บมจ.สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย (SMM) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) เพื่อทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยวนรัชต์เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ใน STARK ที่ 73.37%
          เศรษฐีหุ้นอันดับ 7 และ 8 ได้แก่ สองเศรษฐีหุ้นเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือ เมืองไทยลิสซิ่ง ดาวนภา เพ็ชรอำไพ ร่วงลงไปอยู่ในอันดับ 7 จากอันดับ 5 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้น MTC มูลค่า 41,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,300 ล้านบาท หรือ 18.13% ส่วน ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ร่วงจากอันดับ 4 ลงมาอยู่อันดับ 8 โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 40,841.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,448.98 ล้านบาท หรือ 15.40%
          เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ได้แก่ พิชญ์ โพธารามิก ทายาทคนเดียวของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดิศัย โพธารามิก ผู้ก่อตั้ง บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ถูกเบียดลงมาจากอันดับ 8 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้นมูลค่ารวม 32,596.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,677.46 ล้านบาท หรือ 12.72% เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ได้แก่ อนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ร่วงจากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 27,469.19 ล้านบาท ลดลง 5,431.16 ล้านบาท หรือ 16.51%
          
          ด้าน เจ้าสัวเจริญ และ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้ก้าวเข้ามาอยู่ในทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้เป็นครั้งแรก โดยอยู่ในอันดับ 23 มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองคนละ 10,330.57 ล้านบาท จากการนำ บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) Holding Company ของกลุ่มสิริวัฒนภักดีที่ลงทุนในธุรกิจประกัน "อาคเนย์" เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 โดยเจ้าสัวเจริญและคุณหญิงวรรณาถือหุ้น SEG สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วนเท่ากันที่ 37.38% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ปรากฏชื่ออย่างเป็นทางการในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
          สำหรับทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยในปี 2563 น่าจะได้เห็นความมั่งคั่งของเจ้าสัวเจริญและคุณหญิงวรรณาเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล จากการนำ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) Holding Company ที่ถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ "ทีซีซี กรุ๊ป" เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ด้วยมูลค่า IPO รวม 185,742 ล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย ซึ่งเจ้าสัวเจริญถือหุ้นเป็นอันดับ 2 ในสัดส่วน 25.12% และคุณหญิงวรรณาถือหุ้นอันดับ 3 ในสัดส่วน 19.77%
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad