กพช.ไฟเขียวโรงไฟฟ้าชุมชน 4ประเภท 700เมกะวัตต์กำหนดราคารับซื้อไฟจูงใจนักลงทุน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กพช.ไฟเขียวโรงไฟฟ้าชุมชน 4ประเภท 700เมกะวัตต์กำหนดราคารับซื้อไฟจูงใจนักลงทุน

กพช.ไฟเขียวโรงไฟฟ้าชุมชน 4ประเภท 700เมกะวัตต์กำหนดราคารับซื้อไฟจูงใจนักลงทุน



คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562  เห็นชอบแนวทางร่วมทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 4ประเภท ได้แก่ ชีวมวล, ชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) ,ชีวภาพ (พืชพลังงาน) ,และ เชื้อเพลิง ผสมผสานหรือ Hybrid ระหว่างชีวมวล หรือ ชีวภาพ ข้างต้น กับพลังงานแสงอาทิตย์  รวมกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์กำหนดอัตรารับซื้อจูงใจนักลงทุน ตั้งแต่ 2.90 บาท-5.37บาทต่อหน่วย ส่วนพื้นที่พิเศษที่อยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ได้เพิ่ม อีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง  ตั้งเงื่อนไขให้ชุมชน ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ร่วมถือหุ้นสัดส่วน 10-40%  พร้อมตั้งกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกโครงการ  คาดออกประกาศรับซื้อได้ช่วง มี.ค.-เม.ย.2562
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ว่า ที่ประชุม ได้เห็นชอบในหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 4 ธ.ค.62  โดยแยกเชื้อเพลิงออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ชีวมวล, ชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) ,ชีวภาพ (พืชพลังงาน) ,และ เชื้อเพลิง ผสมผสานหรือ Hybrid ระหว่างชีวมวล หรือ ชีวภาพ ข้างต้น
โดยโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าวจะมีขนาดปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์และเป็นสัญญาประเภท Non-Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ แต่ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่อง ซึ่งในปี 2563 กำหนดปริมาณเปิดรับซื้อไฟฟ้าเอาไว้ที่ 700 เมกะวัตต์ และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) แบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ (1)กลุ่ม Quick win เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ เข้ามาร่วมโครงการ และ(2) โครงการทั่วไป จะเปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่จูงใจนักลงทุน  ตามที่ กพช. เคยได้เห็นชอบไว้เมื่อ 17 ก.พ. 2560  คือพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ต้องแยกมิเตอร์ออกมาอย่างชัดเจน อัตรา 2.90 บาทต่อหน่วย ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.8482 บาทต่อหน่วย ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.2636 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) อัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน 100%)อัตรา 5.3725 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย อัตรา 4.7269 บาทต่อหน่วย รวมทั้ง กำหนด Feed in Tariff  พรีเมี่ยมให้กับพื้นที่พิเศษที่อยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา อีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง

บรรยากาศการประชุม กพช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ตั้ง คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ ที่มี ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและมี อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เป็นเลขานุการ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ และคัดเลือกเรียงตามลำดับจากโครงการที่เสนอให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนสูงสุดไปสู่ผลประโยชน์ต่ำสุด ทั้งนี้ จะพิจารณารับซื้อจากโครงการ Quick win ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงจะพิจารณารับซื้อจากโครงการทั่วไป
สำหรับรูปแบบการร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณร้อยละ 60 – 90 และ (2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 – 40 (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีก
รวมแล้วไม่เกินร้อยละ 40)  พร้อมกำหนดให้แบ่งรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ (1) สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย (2) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย
นอกจากนี้ผู้เสนอโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิงและราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้วย
ส่วนการออกระเบียบหรือประกาศรับซื้อไฟฟ้า กพช.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 2563

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad