กรมเจรจาฯ กางแผนงานปี 63 เร่งเอฟทีเอคงค้าง เปิดเอฟทีเอใหม่ กระตุ้นใช้ประโยชน์ค้าเสรี - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรมเจรจาฯ กางแผนงานปี 63 เร่งเอฟทีเอคงค้าง เปิดเอฟทีเอใหม่ กระตุ้นใช้ประโยชน์ค้าเสรี

กรมเจรจาฯ กางแผนงานปี 63 เร่งเอฟทีเอคงค้าง เปิดเอฟทีเอใหม่ กระตุ้นใช้ประโยชน์ค้าเสรี

img
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกางแผนทำงานปี 63 เดินหน้าใช้เอฟทีเอเปิดตลาด ลดอุปสรรคทางการค้า เตรียมลุยผลักดันลงนามอาร์เซ็ป ปิดดีลเอฟทีเอคงค้าง คาดไทย-ตุรกีจบแน่ ไทย-ปากีสถาน มีลุ้น ส่วนเอฟทีเอใหม่ จะเร่งไทย-อียู เข้าร่วม CPTPP ฟื้นเจรจาไทย-EFTA ไทย-EAEU ไทย-บังคลาเทศ ลุยอัพเกรดเอฟทีเอที่มีอยู่เดิม ใช้เวที JTC เพิ่มการค้า แก้อุปสรรค ดันปฏิรูป WTO พร้อมลงพื้นที่ช่วยเกษตรกร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ
        
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการทำงานปี 2563 ว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยจะให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าในกรอบต่างๆ รวม 6 เวที ได้แก่ การเร่งรัดการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) , การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) คงค้าง , การเจรจาเอฟทีเอใหม่ , การปรับปรุงเอฟทีเอที่มีอยู่เดิม , การประชุมคณะกรรมการการค้า (JTC) และการเจรจาการค้าพหุภาคี เพื่อเปิดตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าให้กับสินค้าและบริการของไทย
        
ทั้งนี้ ในส่วนของอาร์เซ็ป ขณะนี้สมาชิกกำลังประชุมกลุ่มย่อย เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย คาดว่าจะประชุมทุกเดือน รวมถึงการหาข้อสรุปในประเด็นคงค้างกับอินเดีย และในไตรมาสที่ 1 หรือ 2 จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ป เพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมๆ กับการจัดสัมมนาชี้แจงสาระสำคัญของความตกลงอาร์เซ็ปให้กับผู้ที่สนใจ และรับฟังมุมมองความคิดเห็น ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวม 4 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี
        
ส่วนการเร่งเจรจาเอฟทีเอคงค้าง จะผลักดันการเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี ให้แล้วเสร็จในปี 2563 ซึ่งน่าจะทำได้ โดยครั้งต่อไปกำหนดประชุมเดือนเม.ย.2563 ที่ตุรกี ส่วนไทย-ศรีลังกา เจรจากันมาแล้ว 2 รอบ แต่ได้หยุดชะงักไป เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ขณะนี้มีการเลือกตั้ง กำลังติดตามนัดหมายเจรจาต่อไป ขณะที่ไทย-ปากีสถาน เจรจามาแล้ว 9 รอบ สำเร็จไปแล้ว 98% เหลือการเปิดตลาดสินค้า จะเร่งเจรจาให้สรุปให้ได้ในปี 2563
        
สำหรับเอฟทีเอใหม่ กำลังเตรียมการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งขณะนี้ ผลศึกษาทำเสร็จแล้ว มีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว กำลังเสนอเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณา , เอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร ขณะนี้ 2 ฝ่ายได้จัดทำรายงานนโยบายการค้า ก่อนที่จะนัดหารือกันประมาณไตรมาสแรกปี 2563 เพื่อทำงานกันต่อ , การเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) กำลังนำผลการศึกษา การรับฟังความคิดเห็นเสนอ กนศ. , ไทย-EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลิกเทนสไตน์ และไอซ์แลนด์) จะนำผลศึกษาที่เคยทำมาเมื่อปี 2549 มาปัดฝุ่น และเดินหน้าเจรจาต่อ , ไทย-EAEU (รัสเซีย เบลารุส คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน และอาร์เมเนีย) เคยคุยกันมาแล้ว จะสานต่อ และไทย-บังคลาเทศ กำลังศึกษาผลดีผลเสีย คาดว่าจะเสร็จสิ้นปีนี้ และจากนั้นจะหาทางเดินหน้าต่อ
        
ทางด้านการยกระดับหรือทบทวนเอฟทีเอที่มีอยู่เดิม จะมีการหารือเพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติม หรือเพิ่มข้อบทใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ส่วนการประชุมคณะกรรมการการค้า (JTC) จะมีทั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม และคู่ค้าจัดประชุม เช่น สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สิงคโปร์ รัสเซีย บังคลาเทศ มัลดีฟส์ และโมซัมบิก เป็นต้น และการเจรจาพหุภาคี จะผลักดันให้มีการปฏิรูปการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ให้มีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาองค์กรอุทธรณ์ ที่ไม่มีคนทำงาน ทำให้กลไกระงับข้อพิพาทต้องหยุดชะงัก และการเตรียมการประชุมรัฐมนตรี WTO ในเดือนมิ.ย.2563 ที่จะต้องหาข้อสรุปในประเด็นคงค้าง เช่น ความตกลงด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการอุดหนุนการประมง
        
นางอรมนกล่าวว่า งานสำคัญอีกด้านที่จะดำเนินการ จะทำการเสริมสร้างความรู้และเตรียมความพร้อมรองรับการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยจะร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่ 6 จังหวัด คือ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครสวรรค์ สงขลา ระยอง และอุตรดิตถ์ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เตรียมความพร้อมให้สหกรณ์ไทย ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก ชัยภูมิ ตราด และกระบี่ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผลักดันสินค้า 3 จังหวัดชายแดนใต้สู่ตลาดโลก โดยจะดำเนินการที่ปัตตานีและยะลา จัดโครงการจัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ ตั้งเป้าขยายตลาดจีนและอาเซียน การประกวดแผนธุรกิจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่จะเน้นการทำแผนธุรกิจโดยใช้เอฟทีเอขยายตลาด ตั้งเป้าอินเดีย และการผลักดันตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad