ชาวกรุงเตรียมเคาท์​ดาวน์ รับฝุ่นปลายธันวาถึงต้นมกรา กทม. เร่งติดตั้งเครื่องตรวจอากาศครบทุกเขต - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ชาวกรุงเตรียมเคาท์​ดาวน์ รับฝุ่นปลายธันวาถึงต้นมกรา กทม. เร่งติดตั้งเครื่องตรวจอากาศครบทุกเขต




ชาวกรุงเตรียมเคาท์​ดาวน์ รับฝุ่นปลายธันวาถึงต้นมกรา กทม. เร่งติดตั้งเครื่องตรวจอากาศครบทุกเขต




 ผู้เชี่ยวชาญเตือน ชาวกรุงเทพฯ เตรียมรับมือค่าฝุ่น PM2.5 สูงอีกครั้งปลายเดือนธันวาถึงต้นมกรานี้หากอากาศนิ่ง ชี้กทม.มีเครื่องตรวจอากาศไม่เพียงพอและไม่ได้วัดค่าจากพื้นที่ชุมชนจริง กทม. แจ้งกำลังเร่งติดตั้งเครื่องให้ครบทุกเขตภายในเดือนกุมภาพันธ์
สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย และหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 คาดการณ์ว่าค่าฝุ่นละออง PM2.5 จะสูงขึ้นอีกครั้งช่วงปลายเดือนธันวาคมจนถึงต้นมกราคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากอยู่ในฤดูหนาวที่ความกดอากาศสูงและหากอากาศนิ่ง จะไม่มีลดพัดระบายฝุ่น ฤดูฝุ่นอาจมาเป็นระลอกจนถึงเดือนมีนาคม 
“ต่อไปนี้ทุกปีจะมีเรื่องฝุ่นเข้ามากวนใจคนกรุงเทพฯ พูดง่ายๆ คือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน”
สนธิอธิบายว่าแท้จริงแล้วฝุ่น PM2.5 มีมานานแล้ว ทว่าเมื่อสองปีก่อน เพิ่งมีการตรวจวัดอย่างจริงจัง ประกอบกับมีกิจกรรมที่ปล่อยฝุ่นมากขึ้น เช่น การใช้รถยนต์ดีเซล การก่อสร้าง การเผาตอซังข้าวโพด เป็นเหตุให้ทุกวันนี้เรื่องฝุ่นกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องฮิตติดท็อปชาร์ตความสนใจชาวไทย ช่วงกลางเดือนธันวาคมปีนี้ค่าฝุ่นขึ้นสูงเพราะอากาศเย็น ครอบทับมลพิษให้คงอยู่ แต่วันนี้ (18 ธ.ค.62) ค่าฝุ่นเริ่มเบาบางลงเพราะมีลมพัดจากประเทศจีน
ภาพ กราฟแสดงความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 ในเขตดินแดงวันที่ 15-18 ธ.ค.62 แสดงถึงค่าความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่เกินมาตราฐาน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรของไทย ค่าสูงสุดกลางดึกเพราะไม่มีแสงอาทิตย์ ทำให้ความกดอากาศสูง // ขอบคุณภาพจาก: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ กราฟแสดงความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 ในเขตบางขุนเทียน 15-18 ธ.ค.62 แสดงถึงค่าความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่เกินมาตราฐาน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรของไทย ค่าสูงสุดกลางดึกเพราะไม่มีแสงอาทิตย์ ทำให้ความกดอากาศสูง // ขอบคุณภาพจาก: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ
แล้วชาวกรุงต้องอยู่กับปัญหาฝุ่นตลอดไปหรือไม่ สนธิชี้ให้เห็นว่าขณะนี้แม้จะมีมาตราการรับมือฝุ่นทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง เช่น อีกสามปีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะปรับระบบเครื่องยนต์เพื่อรองรับน้ำมันมาตรฐานยุโรปจาก EURO 4 เป็น EURO 5 เพื่อลดการปล่อยฝุ่น และอีก 5 ปี โครงการสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ถึงจะเสร็จเรียบร้อยซึ่งจะลดปริมาณฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการ รวมถึงสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์น้อยลง
“เมื่อวาน (17 ธ.ค. 62) คณะอนุกรรมการฯ ประชุมกัน ผมเสนอประเด็นหนึ่งคือเรื่องสถานีตรวจวัดฝุ่นของกทม. มีไม่เพียงพอ ตอนนี้มีทั้งหมด 46 สถานี ส่วนมากอยู่ในเมือง ยังมีอีกหลายเขตที่ยังไม่มี เช่น มีนบุรี จอมทอง สายไหม ประเวศน์ พระโขนง วัฒนา  คนในพื้นที่นี้ไม่รู้เลย และสถานีส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมถนนที่มีฝุ่นเยอะ เลยไม่ได้เป็นตัวแทนชุมชนจริงๆ”
ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีสถานีตรวจวัดฝุ่นของราชการ 46 สถานี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 24 เขตและมีข้อมูลรายงานปริมาณฝุ่น 21 เขตโดยแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ Air4Thai ไม่ปรากฏข้อมูลปริมาณฝุ่นของเขตบางกอกน้อย บางพลัดและพระนคร
สนธิแนะนำให้ประชาชนคอยติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยอีกหนึ่งทางเลือกคือแอปพลิเคชัน AirVisual ซึ่งรวมรวบข้อมูลจากเครื่องวัดฝุ่นของเอกชนซึ่งแอปนี้เชื่อถึงได้เพราะนำความเข้มข้นของฝุ่นมาคำนวณกับมาตราฐานดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของสหรัฐซึ่งมีเกณฑ์เข้มงวดกว่าของไทย กล่าวคือ สหรัฐจัดให้ดัชนีคุณภาพอากาศระดับ 151 ขึ้นไปถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่เกณฑ์ไทยนับว่าเข้าข่ายอันตรายต่อสุขภาพเมื่ออยู่ในระดับตั้งแต่ 201 เป็นต้นไป นอกจากนั้นประชาชนควรให้ความร่วมมือกับทางการในการลดต้นเหตุของฝุ่น เช่น ดูแลเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์ ไม่ปล่อยควันดำและปลูกต้นไม้
ด้านเติมศิริ จงพูนผล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ชี้แจงว่ากทม.กับรัฐบาลกำลังร่วมมือกันเต็มที่เพื่อแก้วิกฤตฝุ่น โดยอยู่ระหว่างการติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่นให้ครบ 50 เขตภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเริ่มทยอยติดตั้งแต่เดือนนี้ และกำลังดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยคาดการณ์การเกิดฝุ่นล่วงหน้าได้
“ตอนนี้เราเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับฝุ่นบนเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก เราคาดหวังว่าแอปพลิเคชันจะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น นอกจากนี้เราทำงานร่วมกับสำนักเขตเพื่อประชาสัมพันธ์ต่อให้ถึงชุมชนอย่างทั่วถึง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad