อธิบดีหม่อนไหมมอบนโยบายขรก. เพิ่มการผลิตขยายตลาดในปท.-ตปท. - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

อธิบดีหม่อนไหมมอบนโยบายขรก. เพิ่มการผลิตขยายตลาดในปท.-ตปท.

อธิบดีหม่อนไหมมอบนโยบายขรก. เพิ่มการผลิตขยายตลาดในปท.-ตปท.



นายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า แนวทางขยายตลาดผ้าไหมในประเทศนั้น นอกจากกรมฯ จะจัดงานตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทยเป็นประจำทุกปีแล้ว จะเพิ่มจัดตลาดนัดหม่อนไหมในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทุกสัปดาห์ ส่งเสริมใช้ผ้าไหมเป็นชุดประชุมและรับแขกต่างประเทศ สวมใส่ชุดผ้าไหมในพิธีสำคัญและเทศกาลต่างๆให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ส่งเสริมให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐและนักเรียนนักศึกษาสวมใส่ผ้าไหมทุกสัปดาห์ รวมถึงส่งเสริมการออกแบบผ้าไหมให้ร่วมสมัยมาจำหน่ายมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำรายได้ให้ประเทศได้ถึง 12,000 ล้านบาท
ส่วนในต่างประเทศ จะส่งเสริมขยายช่องทางตลาดในประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน กลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศมุสลิม เป็นต้น โดยเน้นผ้าไหมในตลาดแฟชั่นและสินค้าแบรนด์เนม รวมถึงผ้าไหมที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งอาคาร (Home Textile) ตั้งเป้าให้มีรายได้ 3,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 800 ล้านบาทต่อปี โดยทั้งในและต่างประเทศนั้นจะเพิ่มการส่งเสริมตลาดนัดออนไลน์โดยให้ส่วนราชการร่วมกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการ นำผลิตภัณฑ์จำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ด้วย
และเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว กรมหม่อนไหมนำงานวิจัยนวัตกรรมมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ไหมอุตสาหกรรมขึ้นอีก 20% จากเดิมมีผู้เลี้ยงไหมอุตสาหกรรม 4,000 ราย ปริมาณรังไหม 2,800 ตัน มูลค่าสินค้า 500 ล้านบาท เพิ่มจำนวนผู้เลี้ยงไหมเป็น 5,000 ราย ปริมาณรังไหม 3,300 ตัน มูลค่าสินค้า 600 ล้านบาท นอกจากนี้ จะเพิ่มผู้เลี้ยงไหมอีรี่รือไหมที่ไม่ได้กินใบหม่อนเป็น 2,500 ราย ปริมาณรังไหม 500 ตัน มูลค่าสินค่า 60 ล้านบาท โดยส่งเสริมให้ทำแปลงเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิตรังไหมต่อไร่เป็น 150 กิโลกรัม เพิ่มผลผลิตเส้นไหม และเพิ่มพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็น 30,000 ไร่
ส่วนการแปรรูป มีเป้าหมายเพิ่มรายได้ขึ้นอีก 20% เป็น 320 ล้านบาท จากกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบหม่อน 150 ล้านบาท หม่อนผลสด 150 ล้านบาท และไหม 20 ล้านบาท ซึ่งจะร่วมมือกับภาคเอกชนแปรรูปและจัดจำหน่าย นอกจากนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจะเพิ่มปริมาณผลิตผ้าไหม โดยเฉพาะผ้าไหมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน 250,000 เมตร และเพิ่มจำนวนผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและผลิตผ้าไหมในกลุ่มผู้สูงวัยและคนรุ่นใหม่เป็น 10,000 รายต่อไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad