พลาสติกมีที่มา…และที่ไป? เปิดเผยเบื้องหลังธุรกิจนำเข้าขยะรีไซเคิล - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

พลาสติกมีที่มา…และที่ไป? เปิดเผยเบื้องหลังธุรกิจนำเข้าขยะรีไซเคิล

พลาสติกมีที่มา…และที่ไป? เปิดเผยเบื้องหลังธุรกิจนำเข้าขยะรีไซเคิล


หนังสือ Plastic Atlas
หนังสือ Plastic Atlas / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
เพราะปัญหาขยะพลาสติกไม่ได้จบลงในประเทศใดประเทศหนึ่ง ทว่าโยกย้ายข้ามพรมแดน มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์และกรีนพีซเปิดข้อมูลธุรกิจนำเข้าขยะพลาสติกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำถึงเวลาทุกประเทศอย่าหลงภาพสวยของรีไซเคิล ต้องตระหนักถึงผลกระทบและแก้ไขเรื่องนี้ทางการเมือง
เวทีแถลงข่าวประเด็นการค้าขยะในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich Böll Stiftung) สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าขยะพลาสติกเพื่อดำเนินธุรกิจรีไซเคิลประมาณ 481,000 ตัน คิดเป็นเรือขนคอนเทนเนอร์จำนวน 5 ลำ เปรียบเทียบได้กับปริมาณขยะพลาสติกที่สหรัฐฯส่งออกทั้งปี ( ราว 439,000 ตัน) แต่ภายใต้ภาพสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของธุรกิจรีไซเคิลยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่ต้องคำนึง 
Barbara Unmüßig นำเสนอสถานการณ์ขยะพลาสติกในปัจจุบัน / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
“พลาสติกเป็นสิ่งที่มีอำนาจทำได้ทุกอย่าง ลองมองไปรอบตัวสิ เก้าอี้ที่คุณนั่ง ปากกาที่คุณใช้ ทุกสิ่งทำมาจากพลาสติกทั้งหมดโดยที่คุณอาจจะไม่รู้ เพราะฉะนั้นเรื่องพลาสติกจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน แม้แต่ประเทศที่เรามักคิดว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเยอรมนี เราตรวจดินแล้วพบไมโครพลาสติกซึ่งจริงๆ มีมากกว่าในทะเลเสียอีก” Barbara Unmüßig ประธานมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ กล่าว 
Unmüßig เล่าว่าที่ประเทศของเธอนั้นทุกคนแยกขยะ ทว่าสองปีก่อน เมื่อสำนักข่าวเยอรมันรายงานว่าขยะที่ชาวเยอรมันเชื่อว่า “รีไซเคิล” เรียบร้อยแล้ว แท้จริงถูกส่งออกไปยังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อรีไซเคิล เพราะอุตสาหกรรมนี้มีมลพิษสูง หากจะรีไซเคิลในประเทศจึงทำเพียงพลาสติกเกรดดี ส่วนพลาสติกเกรดต่ำลงมาจะส่งออก นอกจานี้ยังมีอีกหลายประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างประเทศที่ส่งออกขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์​
อย่างไรก็ดี เธอย้ำว่า เราต้องรู้ทันมายาคติการรีไซเคิล เพราะแม้การรีไซเคิลดูเหมือนเป็นทางออกของปัญหาขยะ แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการการรีไซเคิลก็ใช้พลังงาน และสามารถก่อให้เกิดปัญหามลพิษได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังจากรีไซเคิลนั้นมีมูลค่าน้อยลงและไม่ทราบว่าปนเปื้อนสารพิษหรือไม่ ทางออกที่ดีที่สุดคือการลดการใช้ตั้งแต่ต้นทาง
เธอเรียกร้องให้นานาชาติหันมาสร้างความตกลงเรื่องพลาสติก ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการจัดการประชุมระดับโลกนี้ได้ 
ด้าน ธารา บัวคำศรี ผู้อำนายการมูลนิธิกรีนพีซแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้กลุ่มประเทศอาเซียนไม่เพียงดำเนินการเรื่องขยะพลาสติกในทะเล แต่หันมาใส่ใจประเด็นการนำเข้าขยะพลาสติก และสกรีนคุณภาพขยะพลาสติกที่นำเข้าประเทศด้วยเช่นกัน โดยเปิดเผยว่าหลังจากที่ประเทศจีนแบนการนำเข้าขยะพลาสติกเมื่อปี 2561 เป็นเหตุให้ขยะพลาสติกถูกส่งออกไปที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ธุรกิจรีไซเคิลในไทยขยายตัวมากในรอบสิบปีที่ผ่านมา ดำเนินการโดยทั้งบริษัทฯ ไทยและนักลงทุนชาวจีนที่มาเปิดโรงงานรีไซเคิลในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ เช่น สมุทรสาครและสมุทรปราการ รวมถึงพื้นที่ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) 
การนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศจำนวนมากกระทบต่อธุรกิจ “ขายของเก่า” ของคนเก็บขยะในประเทศไทย เพราะโรงงานรีไซเคิลหันไปรับซื้อพลาสติกราคาถูกประเภทนี้มากกว่าขยะในประเทศชนิดอื่นๆ เช่น ลังกระดาษที่ราคาสูงกว่า ยิ่งไปกว่านั้นขยะพลาสติกพวกนี้อาจตกค้างระหว่างขั้นตอนนำเข้า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบคอนเทนเนอร์บรรจุขยะพลาสติกจำนวนมากตกค้างในกระบวนการนำเข้าอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี กรมศุลกากรจึงเปิดประมูลและให้ผู้ที่ชนะการประมูลส่งออกขยะดังกล่าวไปประเทศอื่นต่อไป
ธารา บัวคำศรีเล่าถึงเหตุการณ์ประมูลขยะพลาสติกที่ท่าเรือแหลมฉบัง / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
“เราพูดถึงการพัฒนาประเทศในแง่ต่างๆ เช่น ที่พักอาศัย สาธารณสุขและอาหาร แต่เราต้องแยกคุณภาพชีวิตออกจากการบริโภคทางวัตถุ กรีนพีซผลักดันเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่เราต้องการความคิดเห็นจากสาธารณะมาเป็นค้อนเพื่อดันตะปูให้เข้าที่เข้าทาง” 
ข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับสถานการณ์ขยะพลาสติกในปัจจุบันที่มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์นำเสนอในแถลงข่าวตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือออกใหม่ชื่อ “Plastic Atlas” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ https://www.boell.de/en/plasticatlas
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad