ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562


ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562


ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562

      "ดัชนี RSI เดือนพฤศจิกายน 2562 ชี้แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจที่ยังขยายตัว โดยเฉพาะภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากภาคเกษตรและภาคการบริการเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่ควรติดตามสถานการณ์ด้านการบริการของ กทม. และปริมณฑล"

          นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลังและนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤศจิกายน 2562 ว่า "การประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดล่าสุด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) ชี้แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจที่ขยายตัว โดยเฉพาะภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากภาคเกษตรและภาคการบริการเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่ควรติดตามสถานการณ์ด้านการบริการของ กทม. และปริมณฑล"
          ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 65.6 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยใน 6 เดือนข้างหน้าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตรและภาคบริการ เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิต การเกษตรทั้งพืชผล ปศุสัตว์ และประมง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจากความต้องการของตลาดและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาคบริการเนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและมีการยกระดับมาตรฐานการบริการและมาตรฐานความปลอดภัยด้านต่าง ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวประกอบกับเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 65.6 สะท้อนการคาดการณ์เศรษฐกิจที่จะขยายตัวโดยเฉพาะในภาคเกษตรและภาคบริการ เนื่องจากเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ประกอบกับปริมาณผลผลิตภาคเกษตรอื่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว รวมทั้งภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนภาคเกษตรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาคบริการ ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งนโยบายรัฐบาลที่มีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศส่งผลให้กิจการด้านการบริการขยายตัวสูงขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ที่ 63.8 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้นโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นหลัก โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ SME อย่างไรก็ดี ยังมีหลายจังหวัดในภูมิภาคที่คาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะหดตัวลงในอีก 6 เดือนข้างหน้า ส่วนภาคบริการจะขยายตัวจากภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสนับสนุนการท่องเที่ยวจากภาครัฐ และการจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การค้าปลีกค้าส่งก็ได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ และจากการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ยังอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 60.8 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดยแนวโน้มธุรกิจภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น เนื่องจากมาตรการการกระตุ้นของภาครัฐที่ส่งเสริมการค้าการลงทุน และปัจจัยบวกในเรื่องของ EEC ที่มีการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน อย่างไรก็ดี ยังคงมีหลายจังหวัดที่คาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะชะลอลง และมีความกังวลจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ต่อเนื่องจากปีนี้ ประกอบกับแนวโน้มการจ้างงานลดลงเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนมีการปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 59.5 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคเกษตรเป็นหลัก ในส่วนของภาคบริการเนื่องจากเป็นช่วง High Season โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเลและเกาะต่างๆ ประกอบกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในเชิงรุกเพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ในส่วนของการเกษตร เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการประกันราคา มีการเพิ่มกำลังการบริโภคน้ำมันปาล์มในประเทศเพื่อดูดซับผลผลิตออกจากระบบ เช่น นำน้ำมันปาล์มไปผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล และสนับสนุนการสร้างถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา เป็นต้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง อยู่ในเกณฑ์ดีที่ระดับ 56.1 สะท้อนการคาดการณ์เศรษฐกิจที่จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคบริการและภาคการจ้างงาน จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.0 โดยควรติดตามสถานการณ์ด้านการบริการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad