“พาณิชย์”เคาะจ่ายส่วนต่างข้าวงวดที่ 11 มี 4 ชนิดได้เงิน แต่ยอดจ่ายลดลง หลังราคาขยับขึ้น - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563

“พาณิชย์”เคาะจ่ายส่วนต่างข้าวงวดที่ 11 มี 4 ชนิดได้เงิน แต่ยอดจ่ายลดลง หลังราคาขยับขึ้น

img

“พาณิชย์”เคาะส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งวดที่ 11 เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4 ชนิดได้รับเงินชดเชย ข้าวเปลือกเหนียวไม่ได้เหมือนเดิม เหตุราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน เผยส่วนใหญ่ได้รับเงินส่วนต่างลดลง หลังราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการเสริมที่รัฐนำมาใช้ คาดแนวโน้มงวดต่อไป ชดเชยน้อยลงอีก

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2563 คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยมีมติให้จ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 11 ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 4 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ส่วนข้าวเปลือกเหนียว ไม่จ่ายชดเชยส่วนต่าง เพราะราคายังสูงกว่าราคาประกัน

สำหรับการชดเชยส่วนต่าง เกษตรกรที่แจ้งเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 12-18 ม.ค.2563 จะได้รับการชดเชย โดยมีรายละเอียด ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ราคาตลาดเฉลี่ยตันละ 7,892.75 บาท ได้รับส่วนต่างตันละ 2,107.25 บาท , ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาตลาดตันละ 9,661.39 ได้รับส่วนต่างตันละ 1,338.61 บาท , ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตลาดตันละ 14,635.11 ได้รับชดเชยตันละ 364.89 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาตลาดตันละ 13,888.57 ได้รับชดเชยตันละ 111.43 บาท

“การจ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 11 เงินส่วนต่างที่จ่ายลดลง จากราคาข้าวเปลือกในตลาดที่ขยับเพิ่มขึ้น จากมาตรการเสริมที่รัฐบาลได้นำมาใช้ผลักดันราคาข้าว โดยเฉพาะการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางตันละ 1,500 บาท ทำให้เกษตรกรชะลอการนำเข้าออกไปขาย และยังมีมาตรการช่วยสนับสนุนดอกเบี้ยให้กับสถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการค้าข้าวในการรวบรวมข้าวและเก็บสต๊อก ทำให้มีการดึงผลผลิตข้าวส่วนเกินออกจากตลาด ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยเชื่อว่าจากนี้ไป ราคาข้าวจะสูงขึ้นต่อเนื่อง และงวดต่อๆ ไป น่าจะชดเชยน้อยลง เพราะผลผลิตข้าวลดลง ข้าวนาปรังเสียหายจากภัยแล้ง ทำให้มีการแย่งซื้อข้าวกันมากขึ้น”นายวิชัยกล่าว

ทั้งนี้ ผลจากการคำนวณส่วนต่าง งวดที่ 11 เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยสูงสุด คือ ข้าวเปลือกเจ้า จะได้รับเงินรวม 63,217.50 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุม ได้เงินรวม 33,465.25 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ ได้เงินรวม 5,108.46 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ได้เงินรวม 1,782.88 บาท

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกันรายได้ข้าวเปลือกจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท ครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน แต่ถ้าเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด จะได้สิทธิไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของข้าวชนิดที่กำหนดไว้สูงสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad