ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กำไรสุทธิ ประจำปี 2562 จำนวน 1,501.6 ล้านบาท เติบโต 216 เท่า - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กำไรสุทธิ ประจำปี 2562 จำนวน 1,501.6 ล้านบาท เติบโต 216 เท่า

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กำไรสุทธิ ประจำปี 2562 จำนวน 1,501.6 ล้านบาท เติบโต 216 เท่า

          สรุปผลประกอบการประจำปี 2562

          - กำไรสุทธิจำนวน 1,501.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,494.7 ล้านบาท หรือ 216 เท่า (Y o Y)
          - สำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลงร้อยละ 48.7 (Y o Y) ผลจากการปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์
          - รายได้จากการดำเนินงาน 14.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 472.5 ล้านบาท (Y o Y)
          - รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 160.6 ล้านบาท (Y o Y)
          - รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 362.3 ล้านบาท (Y o Y)
          - เงินให้สินเชื่อสุทธิจำนวน 242.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 (Y o Y)
          - เงินฝากจำนวน 241.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 (Y o Y)

          นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,501.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,494.7 ล้านบาท หรือ 216 เท่า เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2561 สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 48.7 ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารและการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานร้อยละ 3.5 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้อยละ 14.1
          รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวน 14.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 472.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.5 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2561 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 160.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 จากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจเช่าซื้อและรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 362.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 20 เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ รายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลงจำนวน 50.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของขาดทุนสุทธิจากหนี้สินทางการเงินที่กำหนดให้แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรมสุทธิกับกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศและการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ
          ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2561 เพิ่มขึ้นจำนวน 1,198.1 ล้านบาทหรือร้อยละ 14.1 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น เนื่องจากการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยเพิ่มขึ้นสำหรับพนักงานที่เกษียณอายุและมีอายุงานมากกว่าหรือเท่ากับ 20 ปีและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกลยุทธ์การขยายงานของธนาคารภายใต้โครงการ Fast Forward เป็นผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 68.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2561 อยู่ที่ ร้อยละ 62.1

          อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 3.31 ลดลงจากปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 3.71 เป็นผลจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น

          วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 242.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับ เงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน บางประเภท) จำนวน 241.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากสิ้นปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 234.3 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 100.3 จากร้อยละ 97.2 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561
          สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 11.3 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 4.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 เป็นผลจากลูกหนี้ภาคธุรกิจบางรายและรายย่อย อย่างไรก็ตาม ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
          อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 93.7 ลดลงจากสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 107 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 10.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินจากเงินสำรองขั้นต่ำตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 4.9 พันล้านบาท
          เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวน 47.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 18 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 13.1

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad