ไมโครพลาสติกอยู่รอบกาย งานวิจัยเผย เรากินพลาสติกโดยไม่รู้ตัวถึง 5 กรัม/สัปดาห์ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563

ไมโครพลาสติกอยู่รอบกาย งานวิจัยเผย เรากินพลาสติกโดยไม่รู้ตัวถึง 5 กรัม/สัปดาห์

ไมโครพลาสติกอยู่รอบกาย งานวิจัยเผย เรากินพลาสติกโดยไม่รู้ตัวถึง 5 กรัม/สัปดาห์


ดวงกมล
ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและการสื่อสารงานอนุรักษ์ WWF ดวงกมล วงศ์วรจรรย์ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

องค์การกองทุนสัตว์ป่าสากล (WWF) เผยผลวิจัยล่าสุด ยืนยันว่าไมโครพลาสติกได้ปนเปื้อนแทรกซึมไปทั่วห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เป็นเหตุให้โดยเฉลี่ยแล้วเราบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายกว่า 5 กรัม/สัปดาห์ เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ไปจนถึงมะเร็ง
เมื่อวันที่ 9 มกราคม ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและการสื่อสารงานอนุรักษ์ WWF ดวงกมล วงศ์วรจรรย์ กล่าวว่า นอกจากปัญหาขยะพลาสติกในทะเลจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากการบริโภคขยะพลาสติกเข้าไปในร่างกาย และทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสื่อมโทรมลงอย่างมาก ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่าปัญหาดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงกว่าที่คาด หลังจากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลพบว่า ขยะพลาสติกได้ทำให้เกิดการปนเปื้อนไมโครพลาสติกทั่วไปในสิ่งแวดล้อม จนแทรกซึมผ่านห่วงโซ่อาหารมาจนถึงภายในร่างกายมนุษย์
“เมื่อขยะพลาสติกถูกทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม พลาสติกเหล่านี้จะไม่หายไปไหน แต่จะสลายตัวกลายเป็นไมโครพลาสติก และปนเปื้อนห่วงโซ่อาหาร โดยจากการศึกษาพบว่า มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในอาหาร น้ำดื่ม และแม้กระทั่งอากาศที่เราหายใจ จนมีการประมาณการณ์กันว่าในแต่ละปี เราได้บริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายราว 5 กรัม/สัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ” ดวงกมล กล่าว
“ดังนั้น WWF จึงจัดแคมเปญรณรงค์ต้านมลภาวะพลาสติกในชื่อ ‘กินอยู่ไม่รู้ตัว: Your Plastic Diet’ เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า ปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ปริมาณพลาสติกที่อาจปนเปื้อนเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของมนุษย์นั้นมีปริมาณสูงเท่าใด”
จากผลการวิจัยดังกล่าว มีการประเมินว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนเราอาจบริโภคไมโครพลาสติกกว่า 1,769 ชิ้น/สัปดาห์ เฉพาะจากการดื่มน้ำเท่านั้น นอกจากนี้ เราอาจจะกินไมโครพลาสติกกว่า 182 ชิ้น/สัปดาห์ ผ่านการบริโภคอาหารทะเล แม้แต่การดื่มเบียร์ยังสามารถทำให้เราเผลอกินไมโครพลาสติกเข้าไปถึง 10 ชิ้น/สัปดาห์
ขยะ
กองขยะโฟมและพลาสติกริมแม่น้ำเจ้าพระยา / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
นพ.ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข คุณหมอนักปรุงอาหารคนดังจากรายการ MasterChef Thailand Season 2 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงภัยต่อสุขภาพจากไมโครพลาสติกว่า แม้ในขณะนี้จะยังมีงานวิจัยทางการแพทย์ถึงผลกระทบจากการบริโภคไมโครพลาสติกต่อมนุษย์ค่อนข้างน้อย แต่หนึ่งในผลกระทบสุขภาพที่ชัดเจนจากพิษไมโครพลาสติกคือ สารพิษในไมโครพลาสติกอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ได้
กล่าวคือ สารพิษบางตัวในไมโครพลาสติกมีลักษณะทางเคมีใกล้เคียงกับฮอร์โมนเพศหญิง เมื่อมีการสะสมไมโครพลาสติกมากๆในร่างกาย อาจทำให้สมดุลฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน จนกระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย และมะเร็งเต้านมในเพศหญิงมากขึ้น
นพ.ดิษกุล กล่าวว่า แม้ว่าจากการศึกษาพบว่าอาหารกลุ่มที่มีแนวโน้มปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุดคือ อาหารทะเล โดยเฉพาะสัตว์ทะเลมีเปลือกเช่น หอย กุ้ง ปู อย่างไรก็ดี ในทางการแพทย์ยังไม่มีการแนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ เพราะอาหารทะเลมีสารอาหารสูง ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าภัยที่อาจได้รับจากไมโครพลาสติกปนเปื้อน
“หนทางแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ที่ดีที่สุดคือการลดขยะที่ต้นทาง ซึ่งทุกคนสามารถช่วยกันได้โดยการลดละเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-used plastic)” เขากล่าว
วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พลาสติกทุกชนิดหากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ต่างสามารถแตกสลายตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกได้ พลาสติกบางชนิดมีความทนทานสูงสามารถตกค้างในธรรมชาติได้นานนับหลายร้อยปี แม้ด้วยนวัตกรรมที่ก้าวหน้าในปัจจุบันจะสามารถผลิตพลาสติกที่ย่อยสลายได้จริง หากแต่พลาสติกที่ย่อยสลายได้เหล่านี้ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม โดยการนำไปย่อยสลายในโรงย่อย ซึ่งในปัจจุบันไทยยังไม่มีโรงงานย่อยสลายพลาสติกแม้แต่เพียงแห่งเดียว
ขยะ
แพสวะและขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
ดังนั้น การคัดแยกขยะพลาสติกให้แห้งและสะอาด เพื่อนำไปเผาในโรงไฟฟ้าขยะจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมของไทย ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงควรส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และปรับปรุงกระบวนการจัดการขยะให้มีการคัดแยกหลังเก็บอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถนำขยะพลาสติกไปจัดการอย่างเหมาะสม เป็นการลดปริมาณขยะปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาไมโครพลาสติกที่ต้นเหตุ
อนึ่ง จากข้อมูลที่สำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ.2559 พบว่า 1 ใน 3 ของปริมาณพลาสติก ที่ผลิตขึ้นมาจบลงด้วยการถูกทิ้งในทะเล พลาสติกกลายเป็นวัสดุพื้นฐานที่ถูกใช้แล้วทิ้งกว่า 75% ชี้ให้เห็นว่าเรายังไม่มีกระบวนการจัดการกับขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ จนทำให้สุดท้ายเราต้องเผชิญกับวิกฤตการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของเราในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad