กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาชุดทดสอบพาราควอต ตรวจง่าย รู้ผลใน 5 นาที - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาชุดทดสอบพาราควอต ตรวจง่าย รู้ผลใน 5 นาที

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาชุดทดสอบพาราควอต สำหรับใช้ในโรงพยาบาลตรวจสิ่งส่งตรวจ เช่น น้ำล้างกระเพาะของผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะได้รับสารพิษพาราควอต สามารถตรวจสอบได้ง่าย รู้ผลภายใน 5 นาที ช่วยให้การรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็ว เตรียมพัฒนาต่อยอดชุดทดสอบเพื่อตรวจการปนเปื้อนพาราควอตในผักผลต่อไป
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากการกินพาราควอต และการตรวจพิสูจน์เพื่อหาสารพาราควอตไม่ทันต่อเหตุการณ์ เนื่องจากต้องนำสิ่งส่งตรวจไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง จึงได้จัดทำชุดทดสอบพาราควอต ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้โรงพยาบาลสามารถนำไปใช้ตรวจสิ่งส่งตรวจที่เป็นชีววัตถุหรือสิ่งส่งตรวจ เช่น น้ำล้างกระเพาะ ของผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะได้รับสารพิษพาราควอต ทำให้แพทย์ทราบผลได้รวดเร็วและสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที
ทั้งนี้จากการศึกษาประสิทธิผลการใช้ชุดทดสอบของห้องปฏิบัติการชันสูตรโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงาและสตูล รวม 19 แห่ง ผลปรากฏว่าห้องปฏิบัติการชันสูตรของโรงพยาบาลสามารถใช้ชุดทดสอบพาราควอตตรวจตัวอย่างที่เตรียมเป็นน้ำล้างกระเพาะเทียม เศษอาหารและน้ำได้โดยให้ผลทดสอบไม่แตกต่างไปจากเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการพิษวิทยาของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง
ในปี พ.ศ. 2562 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง ได้พัฒนาชุดทดสอบพาราควอตแบบเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยลดขั้นตอนการทดสอบลงให้เหลือเพียงขั้นตอนเดียว และมีรูปแบบที่เป็นแคปซูลซึ่งสะดวกต่อการใช้งาน สามารถอ่านผลได้ภายในเวลา 5 นาที ทั้งนี้เพื่อให้ใช้ทดสอบได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ชุดทดสอบที่พัฒนาขึ้นใหม่สามารถตรวจระดับของพาราควอตในตัวอย่างน้ำและตัวอย่างของผู้ป่วยที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ 0.7 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ขึ้นไป
ชุดตรวจสอบพาราควอต
ชุดตรวจสอบพาราควอต
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ชุดทดสอบพาราควอตที่พัฒนาขึ้นมานี้ เพื่อใช้ตรวจผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งใช้ง่ายและสะดวก ไม่ต้องมีเครื่องมือพิเศษแต่อย่างใด เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็ว นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ระหว่างพัฒนาต่อยอดชุดทดสอบเพื่อตรวจการปนเปื้อนพาราควอตในผักผลไม้ต่อไป ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหาร ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง โทรศัพท์ 0 7550 1050 หรือ 0 7550 1052-3
อนึ่ง จากรายงานของกองโรคจากการประกอบอาชีพกรมควบคุมโรค  ในปี พ.ศ. 2561 พบผู้ป่วยโรคจากพิษสารเคมีกําจัดศัตรูพืช จํานวน 6,075 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 10.04 ต่อประชากรแสนราย โดยพบว่ากลุ่มอาชีพที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอาชีพผู้ปลูกพืชไร่และพืชผัก จํานวน 2,622 ราย คิดเป็นร้อยละ 43.16

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad