คนเรามักจำข้อมูลตัวเลขในข่าวผิด บิดเบือนให้ตรงกับความเชื่อเดิมโดยไม่รู้ตัว - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563

คนเรามักจำข้อมูลตัวเลขในข่าวผิด บิดเบือนให้ตรงกับความเชื่อเดิมโดยไม่รู้ตัว


Italy"s local newspaper "Nuovo Quotidiano di Puglia"
คนทั่วไปมักจะคิดว่า แหล่งที่มาของข่าวปลอมหรือข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จจะต้องมาจากสื่อต่าง ๆ รอบตัวเท่านั้น แต่มีน้อยคนที่จะเฉลียวใจว่า แหล่งกำเนิดและตัวการเผยแพร่ข่าวสารผิด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับสถิติหรือข้อมูลตัวเลข อาจจะเป็นตัวเราเองที่มีแนวโน้มจะบิดเบือนจำนวนต่าง ๆ ให้ตรงกับความเชื่อที่มีอยู่เดิมโดยไม่รู้ตัว
ผลการศึกษาล่าสุดด้านจิตวิทยาการสื่อสาร ซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต (OSU) ของสหรัฐฯ และตีพิมพ์ในวารสาร Human Communication Research ชี้ว่าคนเราสามารถจะผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาดได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รับทราบข้อมูลเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนจากแหล่งข่าวภายนอกมาก่อนแต่อย่างใด
มีการทดลองให้อาสาสมัคร 110 คน อ่านข่าวสั้น 4 เรื่อง ซึ่งล้วนเป็นประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลตัวเลข โดยครึ่งหนึ่งของบรรดาข่าวสั้นดังกล่าวนำเสนอข้อมูลสถิติที่เป็นจริงแต่ขัดแย้งกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ เช่นเรื่องจำนวนผู้อพยพชาวเม็กซิกันที่เดินทางเข้าสู่สหรัฐฯ กำลังลดลง จาก 12.8 ล้านคนในปี 2007 มาเป็น 11.7 ล้านคนในปี 2014 แต่คนอเมริกันส่วนมากรวมทั้งตัวอาสาสมัครเชื่อว่ากำลังมีผู้อพยพเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อทีมผู้วิจัยทดสอบให้อาสาสมัครเขียนข้อมูลตัวเลขที่ได้อ่านในข่าวลงในกระดาษ พบว่าแทบจะไม่มีใครจดจำข้อมูลตัวเลขได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซ้ำร้ายยังระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขเหล่านั้นผิดไปอีกด้วย โดยพวกเขาชี้ว่ามีผู้อพยพชาวเม็กซิกันเพิ่มขึ้น จาก 11.7 ล้านคน เป็น 12.8 ล้านคนในช่วงระยะเวลา 7 ปี ซึ่งตรงข้ามกับข้อมูลที่ถูกต้องที่ได้รับรู้มาอย่างสิ้นเชิง
Man reading newspaper and texting messagesImage copyright Getty Creative
อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ระบุจำนวนตัวเลขสอดคล้องกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ เช่นข่าวจำนวนร้อยละของผู้สนับสนุนการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันกำลังเพิ่มสูงขึ้น อาสาสมัครที่ได้อ่านข่าวนี้กลับไม่มีปัญหาในการจดจำตัวเลขที่ถูกต้องแต่อย่างใด
"ความทรงจำข้อมูลข่าวสารที่ผิดเพี้ยนไปนี้ อาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยเจตนาจะบิดเบือนข้อมูลโดยตรง แต่ความเชื่อและอคติที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดการรับรู้ผิดและเข้าใจผิด" ผศ.ดร. เจสัน โคโรเนล ผู้นำทีมวิจัยกล่าว
"ความผิดพลาดนี้จะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีการบอกเล่าต่อกันไปอีกหลายทอด เช่นจำนวนผู้อพยพชาวเม็กซิกันที่ควรจะลดลง 1.1 ล้านคนใน 7 ปี ตามข้อมูลที่ถูกต้อง กลับกลายเป็นว่าถูกนำไปบอกเล่าแบบขยายต่อผิดเพี้ยน จนกลายเป็นเพิ่มขึ้นถึง 4.6 ล้านคนไป"
ถึงกระนั้นก็ตาม ทีมผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า หากข่าวต้นเรื่องมีการอธิบายขยายความว่าเหตุใดตัวเลขสถิติที่ปรากฏจึงไม่เป็นไปตามความคาดหมายของคนส่วนใหญ่ การจดจำผิดเพี้ยนในลักษณะข้างต้นก็อาจไม่เกิดขึ้น หากผู้อ่านได้ให้ความสนใจกับคำอธิบายดังกล่าวเพียงพอ
ที่มา - BBC

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad