‘จารย์เจษ’แย้งนายกฯ ต้มน้ำประปาไม่ช่วยลดเค็ม ชป.เตรียมปล่อยน้ำเพิ่มช่วงน้ำทะเลหนุน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563

‘จารย์เจษ’แย้งนายกฯ ต้มน้ำประปาไม่ช่วยลดเค็ม ชป.เตรียมปล่อยน้ำเพิ่มช่วงน้ำทะเลหนุน

‘จารย์เจษ’แย้งนายกฯ ต้มน้ำประปาไม่ช่วยลดเค็ม ชป.เตรียมปล่อยน้ำเพิ่มช่วงน้ำทะเลหนุน


ทองเปลว กองจันทร์
ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงข่าวถึงการแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำที่สถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 7 มกราคม //ขอบคุณภาพจาก: เรารักชลประทาน

นายกรัฐมนตรีร่วมรณรงค์ประหยัดน้ำช่วงหน้าแล้ง แนะคนกรุงแก้ปัญหาน้ำประปากร่อยด้วยการต้มก่อนนำมาบริโภค ขัดแย้งกับข้อมูลจากฝั่งนักวิชาการที่แย้งว่า น้ำยิ่งต้มยิ่งเค็ม ยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ด้านกรมชลประทาน (ชป.) เผย เตรียมปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม ผลักดันน้ำทะเลหนุนช่วง 13 – 14 มกราคมนี้
เมื่อวันที่ 7 มกราคม นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในกิจกรรมประชาสัมพันธ์รณรงค์ประหยัดน้ำในช่วงวิกฤตภัยแล้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทยเร่งสร้างความเข้าใจถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำ และน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีรสชาติกร่อย และรับรู้ว่ารัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหาให้อยู่
ล้างมือ
น้ำประปาในพื้นที่ฝั่งพระนครมีรสชาติกร่อยบางช่วงเวลาจากสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำหนักช่วงหน้าแล้งนี้ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธได้เชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเหล่านี้โดยการประหยัดการใช้น้ำ โดยระบุว่า หากแต่ละคนช่วยกันประหยัดน้ำวันละ 1 นาที จะสามารถช่วยประเทศประหยัดน้ำได้ถึง 9 ลิตร รวมถึงยังแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำประปารสกร่อยให้ต้มน้ำประปาเพื่อลดความเค็มก่อนนำมาบริโภค
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลแย้งว่า การต้มน้ำประปาไม่สามารถช่วยลดความเค็มอย่างที่นายกรัฐมนตรีแนะนำได้ แต่กลับจะทำให้น้ำที่ต้มแล้วมีอัตราความเค็มมากขึ้นกว่าเดิม
“ในแง่ความเป็นวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาเกี่ยวกับน้ำ หากเราเอาน้ำไปต้มจะเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า “การระเหย” ทำให้ปริมาณของน้ำลดลง แต่ความเค็มที่เกิดจากตะกอนของเกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย แทนที่จะลดความเค็ม กลับทำให้น้ำมีอัตราความเข้มข้นของเกลือมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำลดลงแต่ปริมาณเกลือเท่าเดิม ดังนั้นเมื่อนำน้ำต้มไปดื่ม ก็จะยิ่งเท่ากับได้รับเกลือในปริมาณมากขึ้น เมื่อเทียบกับมวลของน้ำที่บริโภค ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นคนป่วย” ผศ.ดร.เจษฎา กล่าว
ผศ.ดร.เจษฎา แนะนำว่า วิธีที่ถูกต้องในการลดความเค็มน้ำประปาก่อนนำมาบริโภค คือต้องนำน้ำมากรองผ่านระบบ Reverse osmosis (RO) ที่สามารถกรองเอาเกลือแร่ออกจากน้ำ ซึ่งในปัจจุบันเครื่องกรองน้ำที่ติดตั้งในครัวเรือนบางแบรนด์สามารถกรองน้ำให้มีคุณภาพและรสชาติใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวดแล้ว
ในขณะเดียวกัน ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สาเหตุที่น้ำประปามีรสกร่อย เกิดจากการที่น้ำทะเลหนุนสูงเข้ามาในแม่น้ำจนทำให้ค่าความเค็มในจุดสูบน้ำดิบของการประปานครหลวงสูงเกินค่ามาตรฐานสำหรับการผลิตน้ำประปาที่ไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร ในบางช่วงเวลา โดยจากการพยากรณ์คาดการณ์ว่าจะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งระหว่างช่วงวันที่ 13 – 14 มกราคม นี้
สำหรับการรับมือกับปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ทองเปลว เปิดเผยว่า กรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำจืดผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้มากขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม เป็นต้นไป จากเดิมที่มีการระบายน้ำอยู่ที่ 88 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระรามหก 11 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านคลองพระยาบรรลืออีก 21 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อให้มีน้ำจืดผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงคลี่คลายลง กรมชลประทานจะลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงเหลือ 80 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อสงวนปริมาณน้ำสำรองไว้สำหรับการบริหารจัดการน้ำตลอดช่วงฤดูแล้งที่เหลือ
นอกจากนี้ เขายังเปิดเผยว่า กรมชลประทานจะมีการบริหารน้ำที่คลองลัดโพธิ์เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์น้ำทะเลรุกล้ำ กล่าวคือจะปิดประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ในช่วงน้ำทะเลหนุน และเปิดประตูน้ำอีกครั้งในช่วงเวลาน้ำลง เพื่อเร่งระบายน้ำเค็มลงสู่ทะเล
ความเค็ม
สถานการณ์ค่าความเค็มในน้ำประปาเขตกรุงเทพมหานคร //ขอบคุณข้อมูลจาก: การประปานครหลวง
“กรมชลประทานยืนยันว่าเราบริหารจัดการน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วน ทั้งทางด้านการเกษตร การรักษาระบบนิเวศ และการอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ดี สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ จึงขอร้องให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ” ทองเปลว กล่าว
ด้านผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) ปริญญา ยมะสมิต กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในระยะนี้ ส่งผลให้ค่าความเค็มในจุดสูบน้ำดิบที่สถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี มีค่าความเค็มสูงเกินค่ามาตรฐานในบางเวลา จนทำให้น้ำประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีรสกร่อย
จากสถานการณ์ดังกล่าว ปริญญา ยืนยันว่า กปน.ได้ออกมาตรการรับมือโดยการตรวจสอบค่าความเค็ม ณ จุดสูบน้ำดิบแบบเรียลไทม์ โดยหากพบว่าช่วงเวลาใดที่ค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐานการทำน้ำประปาที่ 0.5 กรัม/ลิตร ทางกปน.จะหยุดสูบน้ำดิบทันที และจะเริ่มการสูบน้ำดิบอีกครั้งเมื่อค่าความเค็มลดลงจนอยู่ในระดับมาตรฐานแล้ว
“เรายืนยันว่าจะไม่มีการหยุดการผลิตน้ำประปา อีกทั้งน้ำประปาของเรามีคุณภาพตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกตลอดเวลาอย่างแน่นอน” เขากล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad