ไทยรับมือวิกฤตโลกร้อนล่าช้า Climate Strike Thailand เตรียมเคลื่อนไหวครั้งหน้าวันเด็ก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2563

ไทยรับมือวิกฤตโลกร้อนล่าช้า Climate Strike Thailand เตรียมเคลื่อนไหวครั้งหน้าวันเด็ก

ไทยรับมือวิกฤตโลกร้อนล่าช้า Climate Strike Thailand เตรียมเคลื่อนไหวครั้งหน้าวันเด็ก


ข้อเรียกร้องของกลุ่ม Climate Strike Thailand และคำตอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงปีเป็นค.ศ.เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายโลกร้อนนานาชาติ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
กลุ่มนักเคลื่อนไหวรณรงค์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Strike Thailand ชี้คำตอบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อข้อเรียกร้องประกาศภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศและเพิ่มการผลิตพลังงานทดแทนไม่น่าพอใจ ย้ำไทยรับมือวิกฤตโลกร้อนล่าช้า พร้อมเดินหน้าเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งช่วงวันเด็กที่จะถึงนี้
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม กลุ่ม Climate Strike Thailand โพสเนื้อหาจดหมายตอบกลับข้อเรียกร้องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนเพจเฟซบุ๊ก หลังจากสามเดือนก่อนได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศและยกระดับการผลิตพลังงานทดแทน นันทิชา โอเจริญชัย ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานวัย 22 เผยไม่พอใจคำตอบที่ได้รับ 
“คำตอบสวย แต่จริงๆ แล้วแสดงให้เห็นว่ารับมือปัญหาล่าช้า ไม่เร่งด่วนจริง และไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน” นันทิชา เผยความรู้สึก 
เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เธอและประชาชนนับสองร้อยคนได้เดินทางไปยื่นจดหมายเรียนถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา สอดคล้องกับกลุ่มเยาวชนทั่วโลกอีก 130 ประเทศที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนในช่วงเวลาเดียวกัน
สำหรับจดหมายตอบกลับที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่งส่งให้มานั้นแนบมาพร้อมกับรายงานแจกแจงคำตอบต่อข้อเรียกร้อง มีจำนวนทั้งหมด 4 หน้า ให้คำมั่นว่าไทยจะเพิ่มส่วนแบ่งพลังงานทดแทน 100% ในปีค.ศ. 2050 หรืออีกสามสิบปีข้างหน้า พร้อมชี้แจ้งการดำเนินงานรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่นๆ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังดำเนินการอยู่ เช่น การฟื้นฟูป่าไม้ และบริหารพื้นที่ชายฝั่งรองรับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นันทิชาอธิบายว่าทางกลุ่มไม่ได้มุ่งรณรงค์สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล หากมีจุดประสงค์ให้รัฐและเอกชนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ หนึ่งในข้อเรียกร้องคือ ให้รัฐบาลไทยประกาศภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศทันที เพื่อยกระดับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระทรวงทรัพฯ ได้ตอบรับว่าไม่ขัดข้อง พร้อมชี้แจ้งว่าการดำเนินการดังกล่าวต้องศึกษาข้อดีข้อเสียให้ชัดเจน และการประกาศภาวะฉุกเฉินของประเทศอื่นยังเป็นเพียงการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่ยังไม่มีข้อกฎหมายบังคับใช้
ปัจจุบัน มีรัฐบาลระดับท้องถิ่นและระดับประเทศหลายแห่งได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศ โดยประเทศแรกคือสหรัฐราชอาณาจักรซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 62 ทันทีหลังจากกลุ่มผู้เรียกร้อง Extiction Rebellion นับพันคนลงถนนเรียกร้องต่อเนื่องสิบวันช่วงปลายเดือนเมษายน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน สหภาพยุโรปซึ่งประกอบด้วย 28 ประเทศได้ประกาศภาวะเร่งด่วนนี้ พร้อมทั้งบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรกที่เข้าร่วมแสดงจุดยืน
“มันมีปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นที่ใหญ่กว่าขยะและฝุ่น คำพูดว่า ‘คนยังไม่พร้อม’ ไม่ใช่ข้ออ้าง เพราะมันเป็นเรื่องเร่งด่วน รัฐจึงควรประกาศให้ทุกคนรู้ ไม่ใช่รอให้ทุกคนรู้ก่อนค่อยประกาศ” นันทิชากล่าว
นันทิชา โอเจริญชัยอ่านจดหมายเปิดผนึกต่อ อดิศร นุชดำรงค์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม // ขอบคุณภาพจาก: มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
นันทิชา โอเจริญชัยอ่านจดหมายเปิดผนึกต่อ อดิศร นุชดำรงค์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม // ขอบคุณภาพจาก: มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
อีกข้อเรียกร้องของกลุ่ม Climate Strike Thailand คือ กำจัดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปีค.ศ. 2025 และเพิ่มส่วนแบ่งพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ก่อนเพิ่มเป็น 100% ในอีกสิบห้าปีต่อมา รายงานผลตอบกลับจากกระทรวงทรัพยฯ แจ้งว่าเรื่องดังกล่าวเป็นภารกิจของกระทรวงพลังงาน โดยจะส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ พร้อมทั้งชี้แจ้งเป้าหมายการพัฒนาพลังงานทดแทนที่วางไว้ นันทิชาชี้ว่าแผนการดำเนินการนั้นล่าช้าและแม้จะให้คำตอบว่ากำลังลดกำลังผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทว่ายังเห็นโครงการพัฒนาอยู่หลายพื้นที่ นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยฯ ยังควรมีบทบาทกดดันให้กระทรวงพลังงานคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม 
เธอยืนยันว่ากลุ่ม Climate Strike Thailand จะยังคงเคลื่อนไหวต่อไป โดยจะมุ่งสื่อสารกับชาวไทยมากขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวทั้งหมด 4 ครั้งในปีที่ผ่านมายังมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่เป็นนักเรียนโรงเรียนนานาชาติและชาวต่างชาติ นันทิชาซึ่งเป็นบัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าปัจจุบันสื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาษาอังกฤษมีจำนวนมากแล้ว กลุ่มจะเน้นสื่อสารภาษาไทยและพูดถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เจาะจงในบริบทไทยมากขึ้น เช่น แทนที่จะสื่อสารผ่านตัวอย่างเหตุไฟป่าที่ออสเตรเลียและอะแมซอน อาจพูดถึงเรื่องน้ำท่วมและภาวะแล้งแทนได้
“ปีก่อนเราเคลื่อนไหวพร้อมการเคลื่อนไหวในประเทศอื่นๆ แต่คราวต่อไปจะเริ่มในวันเด็ก วันเด็กเป็นวันของไทย แล้วปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นเรื่องของเยาวชน คุณพูดว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่คุณไม่แคร์ว่าเขาจะมีอนาคตหรือไม่ ขณะที่ทุกปีมีคำขวัญวันเด็ก ปลูกจิตสำนึกให้เป็นคนดี คุณก็ควรเพิ่มการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้เด็กมีจิตสำนึกเรื่องนี้ด้วย”
“อยากให้ทุกคนช่วยกันคุยเรื่องโลกร้อน ช่วยกันแชร์บนเฟซบุ๊ก ภาครัฐกับเอกชนจับตามองความสนใจของประชาชนอยู่แล้ว เพราะรัฐต้องการเสียงโหวต เอกชนต้องพึ่งพาลูกค้า เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงเริ่มจากพูดคุย” ผู้ประสานงาน Climate Strike Thailand ทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad