“พาณิชย์”มั่นใจความเชื่อมั่นผู้บริโภคพุ่ง หลังรัฐเร่งปั๊มส่งออก-เจรจา GSP สหรัฐฯ-เทรดวอร์คลี่คลาย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563

“พาณิชย์”มั่นใจความเชื่อมั่นผู้บริโภคพุ่ง หลังรัฐเร่งปั๊มส่งออก-เจรจา GSP สหรัฐฯ-เทรดวอร์คลี่คลาย

img

“พาณิชย์”มั่นใจความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มสดใส หลังภาครัฐมีมาตรการเชิงรุกต่อเนื่อง เผยในด้านส่งออก “จุรินทร์” เตรียมลุยเจาะตลาด 18 ประเทศ และทำแผนดันส่งออกสินค้าที่มีโอกาสเพิ่มยอด ส่วนกรณี GSP รุกเจรจาสหรัฐฯ ระงับการตัดสิทธิ และหาตลาดทดแทนลดความเสี่ยง ขณะที่สงครามการค้าส่อแววชะลอตัว หลังลงนามข้อตกลงการค้าเฟส 1 คาดความเชื่อมั่นระยะต่อไปพุ่งแน่  
        
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธ.ค.2562 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 44.5 คงที่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดัชนีปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก 39.0 เป็น 39.4 และดัชนีอนาคตอยู่ที่ระดับ 48.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตโดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในระดับเชื่อมั่นสูงกว่า 50 อยู่ที่ระดับ 52.8 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดัชนีในอนาคตเดือนธ.ค.2562 อยู่ในระดับเชื่อมั่นที่ 52.0 และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 54.4 ชี้ว่าในภาพรวมปี 2562 ผู้บริโภคทั่วไปยังมีความคาดหวังและมีมุมมองเชิงบวกว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีในระยะต่อไป และเชื่อว่าความผันผวนจากปัจจัยภายนอกน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น
        
ทั้งนี้ ในประเด็นที่ผู้บริโภคมีความกังวลและทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่น ทั้งในเรื่องการส่งออกที่ชะลอตัว การถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกเรื่อง และมีมาตรการเร่งด่วนออกมารับมือในทุกประเด็นที่เป็นข้อกังวลแล้ว
        
โดยในด้านการส่งออก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะผู้แทนการค้าไทยเดินทางไปขยายตลาดและจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้ารวม 18 ประเทศ ได้แก่ ตลาดเดิม เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ สหภาพยุโรป ตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ตุรกี ศรีลังกา บังคลาเทศ แอฟริกาใต้ ตลาดฟื้นฟู เช่น ตะวันออกกลาง ตลาดอาเซียน และ CLMV เช่น กัมพูชา แต่ประเทศใหญ่อย่างจีนและอินเดีย จะเจาะตลาดลึกเป็นรายมณฑลและรายรัฐมากขึ้น และในแต่ละตลาดจะมีสินค้าเป้าหมายที่ต่างกัน โดยอินเดียจะนำร่องไปเมืองเบงกาลูรู และไฮเดอราบัด ระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค.2563
        
ขณะเดียวกัน กำลังทำการศึกษาสินค้าที่มีโอกาสส่งออกท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ชะลอตัว โดยพบว่า สินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ไก่แปรรูป เครื่องดื่ม สินค้าอุตสาหกรรม เช่น นาฬิกาและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์ และสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัวและของใช้ในบ้านเรือน มีสัดส่วน 6.2% ของการส่งออกรวม เป็นสินค้าที่สามารถเพิ่มยอดส่งออกได้ และกำลังศึกษาเพื่อขยายตลาดเชิงลึกอยู่   
        
ส่วนประเด็นสหรัฐฯ ตัด GSP ได้มีการหารือและทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาให้สหรัฐฯ พิจารณาทบทวนการระงับสิทธิ GSP และยังได้แจ้งผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบสถานการณ์ความคืบหน้าเป็นระยะ ตลอดจนร่วมกันประเมินผลกระทบและเตรียมมาตรการรองรับ โดยเฉพาะการหาตลาดใหม่ และการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีอยู่ และเดินหน้าขยาย FTA กับคู่ค้าสำคัญ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า
        
สำหรับประเด็นสงครามการค้า ที่ก่อนหน้านี้ เคยเป็นปัญหา กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการรับมือ ทั้งการหาตลาดทดแทน การผลักดันการส่งออกสินค้าเข้าไปทดแทนสินค้าที่ถูกสหรัฐฯ และจีนขึ้นภาษีระหว่างกัน ซึ่งถือว่าทำได้ดี สินค้าหลายตัวมียอดส่งออกเพิ่มขึ้น และยังเชื่อว่าการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟส 1 ของสหรัฐฯ กับจีน จะทำให้ผลกระทบจากสงครามการค้าชะลอตัวลง และส่งผลดีต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโลก และยังมีความชัดเจนเรื่องการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) จีนถูกถอนจากบัญชีประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน และไทยไม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตา ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเชิงบวกสนับสนุนให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นและทำให้มุมมองและความคาดหวังในอนาคตของประชาชนกลับขึ้นมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นได้ในระยะต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad