KKP Research วิเคราะห์วิกฤตภัยแล้ง 2020 ปีนี้รุนแรงแค่ไหน – ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563

KKP Research วิเคราะห์วิกฤตภัยแล้ง 2020 ปีนี้รุนแรงแค่ไหน – ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย


KKP Research ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
KKP Research ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ “วิกฤตภัยแล้ง 2020 อีกหนึ่งความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย” โดยมองว่า
  • สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้เทียบความรุนแรงใกล้เคียงกับปี 2015-16 เนื่องจาก (1) ปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในระดับต่ำเข้าขั้นวิกฤต (2) น้ำในแม่น้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์น้อย และ (3) ภาวะน้ำทะเลหนุนสูง
  • ภาคการเกษตรในภาคกลางและภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด จากสัดส่วนการปลูกข้าวนาปรังที่สูงกว่าภาคอื่นๆ และพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทานซึ่งขาดแคลนน้ำในปีนี้
  • ภัยแล้งอาจะทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนในปีนี้เสี่ยงขยายตัวต่ำกว่า 3%
  • แม้ผลกระทบโดยตรงต่อ GDP อาจจะไม่มากนัก แต่ผลลบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจโดยรวมอาจสูง อีกทั้งยังกระทบคนจำนวนมาก และจะซ้ำเติมภาวะการจ้างงานและรายได้ครัวเรือนที่ได้รับแรงกดดันจากการหดตัวของภาคการผลิตอยู่แล้ว
ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตน้ำแล้งที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2019 และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในปี 2020 คำถามสำคัญคือ วิกฤตในครั้งนี้เกิดจากอะไร มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร บทวิเคราะห์ของ KKP Research จะตอบคำถามเหล่านี้

วิกฤตน้ำแล้งปีนี้รุนแรงแค่ไหน?

สัญญาณภัยแล้งในปีนี้ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019 โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง มีสาเหตุหลักจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน (ภัยแล้ง) ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 ส่งผลให้ในปีถัดมาเกิดฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนนาน 2 เดือน (มิ.ย.–ก.ค. 2019) ปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10% และปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลของพายุโซนร้อนในปี 2019 ไม่ว่าจะเป็น “วิภา” “โพดุล” และ “คาจิกิ” ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และบางพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม แต่ฝนที่ตกส่วนใหญ่ตกในพื้นที่ใต้เขื่อนจึงไม่ได้ช่วยเติมน้ำในเขื่อนเท่าใดนัก และเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง (เริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์) จึงทำให้ปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ได้ หรือ “น้ำต้นทุน” ต่ำกว่าความต้องการใช้จริง
จากข้อมูลของคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ณ วันที่ 1 ม.ค. 2020 พบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา (4 เขื่อนหลัก) อยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าภัยแล้งปี 2015-16 (รูปที่ 1) และหากพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคกลางน่าเป็นกังวลมากที่สุด เนื่องจากระดับน้ำของทั้ง 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนกระเสียว และเขื่อนทับเสลา อยู่ในระดับต่ำที่ 20% – 24% ของความจุสูงสุดของเขื่อน ซึ่งต่ำกว่าทั้งค่าเฉลี่ยในอดีตและระดับน้ำในวันเดียวกันเมื่อปี 2016 หลายเขื่อนในภาคเหนือประสบกับปัญหาน้ำน้อยด้วยเช่นกัน มีเพียงภาคตะวันตกที่สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี (รูปที่ 2)
ระดับน้ำต้นทุนที่ต่ำต่อเนื่องมาจากปีก่อน และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักที่อยู่ในเกณฑ์น้อยและเริ่มแห้งขอด จะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ลากยาวไปจนถึงเดือน มิ.ย. เทียบเคียงได้กับวิกฤตภัยแล้งในปี 2016 แต่ปัจจัยที่อาจทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ย่ำแย่ไปกว่าปี 2016 คือ ภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้จำเป็นต้องระบายน้ำในเขื่อนเพื่อใช้เจือจางและผลักดันน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามา ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะได้รับการจัดสรรสำหรับเกษตรกรรมอาจน้อยลงจนอาจเข้าขั้นวิกฤต นอกจากนี้ หากในช่วงครึ่งปีหลังปริมาณฝนยังคงต่ำกว่าค่าปกติ อาจยิ่งทำให้สถานการณ์ในปี 2020 รุนแรงกว่าภัยแล้งที่เคยเกิดในปี 2016

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในภาคกลางและภาคเหนือกระทบหนักสุด

สินค้าเกษตรสำคัญที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะแล้งมากที่สุดคือข้าวนาปรัง เนื่องจากเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วง
ฤดูแล้งคือระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ขณะที่พื้นที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นปีนี้มากที่สุดคือภาคกลางและภาคเหนือ เพราะไม่เพียงแต่มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในระดับต่ำขั้นวิกฤต แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนการปลูกข้าวนาปรังมากที่สุด (รูปที่ 3 และ 4) และอยู่ในเขตอาศัยน้ำจากชลประทานมากที่สุด (รูปที่ 5) โดยพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในภาคกลางและเหนืออยู่ในเขตชลประทานถึง 95% และ 50% ตามลำดับ ในปีวิกฤตภัยแล้ง 2016 พบว่าผลผลิตข้าวนาปรังของทั้งประเทศหดตัวลงถึง 63%
เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยผลผลิตลดลงมากที่สุดในภาคกลางและภาคเหนือ (รูปที่ 6)

ผลกระทบจากภัยแล้งต่อเศรษฐกิจ

ภาวะภัยแล้งจะส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ยังมีการทำการเกษตรค่อนข้างมาก โดยการจ้างงานในภาคการเกษตรสูงถึงเกือบ 1 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมด ขณะเดียวกันเกษตรกรไทยยังขาดกลไกในการป้องกันความเสี่ยงต่อสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนในแต่ละปี ในอดีตประเทศไทยเคยประสบภาวะภัยแล้งหลายครั้ง จากการสำรวจผลกระทบของภาวะภัยแล้งในปี 2015-16 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ถึง 2.87 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งเสียหายถึงกว่า 2 ล้านไร่ ขณะที่เกษตรกรได้รับผลกระทบ 272,743 ราย และเกษตรกรสูญเสียรายได้รวมทั้งสิ้น 15,514 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกร การอุปโภคบริโภค และการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
KKP Research คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับหรือรุนแรงกว่าวิกฤตภัยแล้งในปี 2016 จากปริมาณน้ำต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำเข้าขั้นวิกฤตในหลายพื้นที่ชลประทาน อีกทั้งยังประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งจำเป็นต้องจัดสรรน้ำที่มีอยู่เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อรักษาระบบนิเวศ (การป้องกันน้ำเค็มรุก) ก่อนที่จะจัดสรรให้กับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม โดย KKP Research ประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ดังนี้
1.ผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมคาดลดลง 5% ในครึ่งปีแรก และลดลง 1.3% สำหรับทั้งปี
ผลผลิตข้าวนาปรังในช่วงครึ่งแรกของปีนี้คาดว่าอาจลดลงถึง 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงเหลือ 3.5 ล้านตันจากระดับปกติที่ 8.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวทั้งปีลดลง 1.5% ในกรณีที่ข้าวนาปีในช่วงฤดูฝนของปีนี้กลับมาปลูกได้ตามปกติ (สัดส่วนผลผลิตข้าวนาปรังต่อข้าวนาปีประมาณ 25:75)
ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร (Farm Production) คาดว่าลดลง 5% สำหรับครึ่งปีแรก และ 1.3% สำหรับทั้งปี 2020
หากพิจารณาจากวิกฤตภัยแล้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2016 ซึ่งระดับน้ำต้นทุนในช่วงต้นปีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก จะเห็นว่าผลผลิตทางการเกษตรหดตัวโดยเฉลี่ย 5.7% ในช่วงครึ่งปีแรก โดยหดตัวสูงสุดในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง (รูปที่ 7) อย่างไรก็ดี หากในฤดูฝนของปีนี้คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ฝนกลับมาตกตามปกติเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2016 ก็จะทำให้ผลผลิตข้าวนาปีในช่วงครึ่งหลังของปีไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นปีมากนัก
2.การปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากผลผลิต
หากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงขึ้นและเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง แต่ไม่น่าเพียงพอที่จะชดเชยรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวลดลงจากผลกระทบด้านปริมาณผลผลิต รูปที่ 8 แสดงให้เห็นว่าราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้าไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงภัยแล้งปี 2015-16 มีเพียงข้าวเปลือกเหนียว ที่ปรับตัวขึ้นเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ
นอกจากนี้ อุปสงค์โลกที่ยังคงอ่อนแอโดยเฉพาะอุปสงค์การนำเข้าของประเทศจีนที่มีแนวโน้มลดลงจากสต๊อกข้าวในประเทศที่มีอยู่สูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งของไทยยังทำให้ประเทศไทยส่งออกข้าวได้น้อยลงมาก โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2019 ปริมาณข้าวที่ไทยส่งออกไปยังตลาดโลกลดลงถึง 28% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า กดดันราคาข้าวในประเทศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ในปี 2015 ที่ประเทศไทยประสบภัยแล้ง รายได้เกษตรกรติดลบถึง 10% โดยเป็นผลจากผลผลิตที่ลดลง 5% และราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงอีก 5%
3.ภัยแล้งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อ GDP โดยการบริโภคภาคครัวเรือนเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่า 3%
ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเขตภูมิภาค โดยหากประเมินเฉพาะผลกระทบโดยตรงจากความสูญเสียของผลผลิตทางการเกษตร คาดว่าจะทำให้การเติบโตของ GDP ปีนี้ลดลงประมาณ 0.1% (จากที่ KKP Research คาดการณ์ที่ 2.6%) และการบริโภคภาคเอกชนคาดลดลงประมาณ 0.15% (จากการคาดการณ์ที่ 3.0%) ซึ่งอาจเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักเนื่องจากผลผลิตภาคการเกษตรคิดเป็นเพียงประมาณ 6% ของ GDP ทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่านี้เนื่องจากมีผลกระทบทางอ้อมอื่นๆ จากการขาดรายได้และสภาพคล่องของผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร เช่น โรงสีข้าว เครื่องมือเครื่องจักร และวัตถุดิบทางการเกษตร อีกทั้งยอดขายรถกระบะและรถจักรยานยนต์อาจเสี่ยงหดตัวได้สูงในปีนี้จากรายได้เกษตรกรที่ลดลง (รูปที่ 9) ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงมิได้จำกัดอยู่เพียงในกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น
4.ภัยแล้งกระทบคนรายได้น้อยจำนวนมากถึงแม้ผลกระทบต่อ GDP จะน้อย
ภัยแล้งที่เกิดขึ้นถึงแม้จะประเมินเป็นตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่สูงมากนัก แต่กระทบคนจำนวนมาก โดยจำนวนครัวเรือนเกษตรกรไทยมีมากกว่า 7 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ และจากสถิติแรงงานไทยล่าสุด จำนวนแรงงานในภาคเกษตรมีทั้งสิ้น 11.9 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน โดยสัดส่วนอาชีพเกษตรกรสูงที่สุดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอยู่ที่ 46% และ 54% ตามลำดับ (รูปที่ 10) เกษตรกรในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักที่เสี่ยงได้รับความเสียหายจากภัยแล้งมากที่สุด ยิ่งทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและผันผวนอยู่แล้วมีความเปราะบางต่อวิกฤตภัยแล้งมากเป็นพิเศษ
ผลกระทบจากภัยแล้งจะยิ่งซ้ำเติมตลาดแรงงานและรายได้ของภาคครัวเรือนที่กำลังเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ซบเซาอยู่แล้ว ทำให้ภาคเกษตรไม่สามารถทำหน้าที่รองรับการถูกเลิกจ้างและการลดชั่วโมงทำงานของแรงงานในภาคการผลิตได้เหมือนในอดีต และอาจทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยทวีความรุนแรงขึ้นอีกทางหนึ่งอีกด้วย
5.ผลกระทบจากภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภคอยู่ในวงจำกัด
แผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานมีการกำหนดลำดับความสำคัญของการจัดสรรทรัพยากรน้ำตามลำดับดังนี้
  • (1) น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค
    (2) น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ได้แก่ การป้องกันน้ำเค็มรุก ระดับน้ำลดลงต่ำจนตลิ่งทรุด หรือน้ำเน่าเสีย
    (3) น้ำเพื่อการเกษตร
    (4) น้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรม
วิกฤตน้ำประปากร่อย โดยในปีนี้ที่นอกจากจะมีปัญหาน้ำแล้งแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญกับภาวะน้ำทะเลหนุนสูงที่ส่งผลให้เกิด
‘วิกฤตน้ำกร่อย’ ซึ่งทำให้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าความเค็มสูงกว่าปกติถึง 5-10 เท่าตัว จนเสี่ยงที่จะเกินเกณฑ์มาตรฐานการผลิตน้ำประปา ซึ่งจากลำดับความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ทำให้ทางการจำเป็นต้องผันน้ำจืดต้นทุนส่วนหนึ่งไปใช้ในการไล่ความเค็มในแหล่งน้ำหลักถึงแม้สถานการณ์ภัยแล้งจะอยู่ในขั้นรุนแรง หากปัญหาน้ำประปาเค็มยังคงไม่คลี่คลาย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรและทวีความรุนแรงของผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้
จากรายงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วงเกิดวิกฤตภัยแล้งปี 2015-16 โรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวมทั้งสิ้น 1,131 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากและมีการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมสูงสุด อย่างไรก็ดี ไม่มีโรงงานที่ปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในกระบวนการผลิต แต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จากผลผลิตการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบมีปริมาณลดลง มีคุณภาพไม่คงที่และมีราคาสูงขึ้น และจากต้นทุนการบริหารจัดการน้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมคาดว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาคการเกษตร ในปีนี้ โรงงานอุตสาหกรรมในภาคกลาง เช่น อยุธยา มีความเสี่ยงขาดน้ำค่อนข้างสูงเนื่องจากปัญหาน้ำต้นทุนน้อยโดยเฉพาะในเขตภาคกลางตามที่กล่าวมาข้างต้น อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมีความเสี่ยงจากปัญหาน้ำแล้งด้วยเช่นกันจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำหลักที่มีเพียงประมาณ 50% ของความจุอ่างซึ่งต่ำกว่าระดับปกติ
อย่างไรก็ดี ผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัดเนื่องจาก อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการประเมินและเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ภัยแล้งล่วงหน้า และมีการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง โดยเฉพาะโรงงานที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอ่างกักเก็บน้ำภายในนิคม ส่วนโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมมีการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ร่วมกับน้ำประปาและหันมาใช้น้ำที่ผ่านการรีไซเคิลมากขึ้น

สองปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป

การประเมินผลกระทบภัยแล้งว่าสุดท้ายแล้วจะกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่
1.ปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนของปีนี้ ว่าจะตกมากน้อยเพียงใดและตกในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อการปลูกข้าวนาปีในช่วงครึ่งหลังของปี โดยหนึ่งในตัวชี้วัดโอกาสที่ฝนจะตกมากหรือน้อยคือการติดตามการเกิดปรากฎการณ์ El Niño ซึ่งสะท้อนในดัชนี Oceanic Niño Index (ONI) ที่เป็นดัชนีชี้วัดค่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เปลี่ยนไปจากค่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลปกติ (ค่า ONI เป็นบวกตั้งแต่ +0.5 °C ขึ้นไปจะถือว่าเป็นช่วงของ El Niño แต่ถ้ามีค่าเป็นลบตั้งแต่ -0.5 °C ลงมาถือว่าเป็นช่วงของ La Niña) จากตารางที่ 1 จะเห็นว่าทั้งแต่ปลายปี 2018 ถึงปี 2019 ดัชนีชี้ว่าเกิดปรากฎการณ์ El Niño ซึ่งอธิบายภาวะฝนทิ้งช่วงและฝนตกน้อยในฤดูฝนที่ผ่านมา ล่าสุดดัชนีอยู่ที่ระดับ +0.5 ซึ่งจัดเป็น El Niño ระดับอ่อน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือน มิ.ย. และคาดว่าในต้นฤดูฝนของปีนี้ปริมาณฝนจะเข้าใกล้ระดับปกติ โดยอาจต่ำกว่าค่าปกติ 3-5% ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน
2.ประสิทธิผลของมาตรการภาครัฐ ทั้งในด้านมาตรการเพื่อรับมือภัยแล้งและมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกร โดยช่วงภัยแล้งในปี 2019 ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประกาศขยายเวลาชำระหนี้คืนต้นเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระออกไปก่อนอีกระยะหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคลายความกังวลในเรื่องหนี้สินเดิมของเกษตรกร รวมถึงออกมาตรการสินเชื่อใหม่ที่ยังมีผลครอบคลุมถึงภัยแล้งในปีนี้ รวมวงเงินทั้งสิ้น 55,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ
นอกจากนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามที่กำหนด และโครงการประกันภัยนาข้าวปี 2562/63 จะช่วยชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนเงิน 1,260 บาทต่อไร่หากทางการมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติในแปลงนาที่เกษตรกรลงทะเบียนทำประกันเอาไว้
เรายังคงต้องติดตามต่อไปว่ามาตรการเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่และภาครัฐจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมเพื่อประคับประคองเกษตรกรและเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
ที่มา - ไทยพับลิก้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad