PwC คาดปี’63 เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ “ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563

PwC คาดปี’63 เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ “ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์”


นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย
PwC คาดปี 63 เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ “ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์” โดยภาคบริการจะยังคงเป็นดาวเด่นของการค้าโลก ส่วนการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมกัน คาดอินเดียขยับขึ้นติด 1 ใน 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก

วันที่ 13 มกราคม 2563 – PwC คาดในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะเข้าภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ โดยการค้าและการลงทุนทั่วโลกจะดำเนินไปในทิศทางที่ชะลอตัว และคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตประมาณ 3.4% หลังได้รับแรงหนุนจากภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายลงและการพึ่งพาการบริโภคภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทดแทนการส่งออกและการลงทุนที่ชะลอตัว
ด้าน PwC ประเทศไทยคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 3% โดยได้ปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ แต่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านว่าจะขยายวงกว้างมาก-น้อยแค่ไหน รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงดำเนินต่อไป ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานGlobal Economy Watch ฉบับล่าสุดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2563 คาดว่า จะเติบโตที่ 3.4% (ตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ หรือ purchasing power parity หรือ PPP) เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวของศตวรรษที่ 21 ที่ 3.8% ต่อปี โดย PwC คาดการณ์ว่า ปี 2563 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ (slowbalisation) โดยได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดทางการค้าที่ยังคงเป็นความท้าทายต่อการจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานและการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศต่างๆ ในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม PwC คาดการณ์ว่า ภาคบริการจะยังคงเป็นดาวเด่นของการค้าโลก โดยคาดว่า มูลค่าของการบริการส่งออกทั่วโลกจะสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 212.56 ล้านล้านบาท) ในปี 2563 โดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรจะยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกบริการชั้นนำของโลกและคาดว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจะสามารถแซงหน้าฝรั่งเศสขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ได้ในปีนี้

แนวโน้มการค้าโลกยังเผชิญกับความไม่แน่นอน

ทั้งนี้ ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ยังคงเป็นไปในระดับทรงตัว โดยเศรษฐกิจหลักของโลกจะได้รับแรงหนุนจากภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายลงและการพึ่งพาการบริโภคภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทดแทนการส่งออกและการลงทุน
นายบาร์เรต คูเพเลียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ PwC ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “โลกาภิวัตน์ได้เป็นตัวขับเคลื่อนปรากฏการณ์และทิศทางของเศรษฐกิจโลกมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แต่ในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณของสินค้าที่ได้มีการซื้อขายกันทั่วโลกได้มีการชะลอตัวอย่างมากและเกือบเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีที่ผ่านมา ประกอบกับประเด็นเรื่องกลไกระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) ที่ยังคงชะงักงันแม้จะได้มีการหารือไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปของการแก้ปัญหา ทำให้เราคาดว่า นี่จะเป็นประเด็นที่ท้าทายการค้าโลกในระยะต่อไป”
นอกจากนี้เป็นที่แน่ชัดว่า เรากำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ หรือ slowbalisation โดยการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจและการค้ายังคงดำเนินต่อไปแต่จะเติบโตในอัตราที่ช้าลง โดยเมื่อเชื่อมโยงภาพของปริมาณการค้าและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ทำให้เราคาดว่า จะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2563

การจ้างงานเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ PwC ยังคาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) จะยังคงสร้างงานต่อไป โดยจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นราวๆ 2 ล้านตำแหน่ง โดย 4 ใน 5 ของตำแหน่งงานใหม่ในกลุ่ม G7 จะอยู่ในสหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น ในขณะที่แหล่งทรัพยากรแรงงานในกลุ่ม G7 ค่อยๆ ลดลง เราประเมินว่า ผลประกอบการจะยังคงอยู่ในภาวะขาขึ้น แต่การขาดการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตอาจจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทถูกบีบได้
เช่นเดียวกัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) คาดว่า กลุ่ม E7 จะสร้างงานประมาณ 8 ล้านตำแหน่ง โดยไอแอลโอคาดการณ์ว่า การจ้างงานในกลุ่ม G7 จะมีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมระหว่างผู้ชายและผู้หญิง แต่การจ้างงานภายในกลุ่ม E7 ไอแอลโอคาดว่า การจ้างงานจะมีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมกันน้อยกว่าทั่วทุกเพศ

คาดอินเดียขยับขึ้นติด 1 ใน 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก

ตามประมาณการล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ระบุว่า ในปี 2562 อินเดียได้แซงหน้าอังกฤษและฝรั่งเศสขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก และมีแนวโน้มว่า ในปี 2568 อินเดียจะแซงหน้าเยอรมนี และญี่ปุ่นก่อนปี 2073 ขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกเป็นอันดับที่ 3 รองจากจีนและสหรัฐฯ ขณะที่ฝรั่งเศสและอังกฤษจะแข่งกันเป็นอันดับที่ 6 โดยมีตัวแปรสำคัญคือ ค่าเงินปอนด์เทียบกับเงินยูโรซึ่งจะยังคงมีความผันผวนอยู่ในปี 2563

การผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกาเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตของโอเปก

PwC ยังคาดการณ์ด้วยว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกจะมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของการใช้พลังงานทั่วโลก ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา การใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวและการปรับทัศนคติของภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และภาครัฐ
ทั้งนี้ คาดว่า จีนจะเป็นผู้ใช้พลังงานประเภทนี้รายใหญ่ที่สุดของโลกตามมาด้วยยุโรป อย่างไรก็ตาม คาดว่า น้ำมันจะยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่มีการบริโภคมากที่สุดในปี 2563 ตามมาด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ โดยสหรัฐฯ และจีนจะยังคงเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้

จำนวนประชากรโลก-ผู้สูงอายุสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

ในปี 2563 คาดว่า จำนวนประชากรโลกจะสูงถึง 7.7 พันล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา โดยคาดว่าจีน อินเดีย และแอฟริกาใต้เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา จะช่วยผลักดันการเติบโตของประชากรโลกให้เพิ่มขึ้นกว่าครึ่งหนึ่งในทุกๆ ปี ในขณะเดียวกันก็คาดว่า จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีทั่วโลกจะมีมากกว่า 1 พันล้านคน โดยจีนจะมีจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีสูงกว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของโลก 6 แห่งรวมกันด้วย
นายศิระกล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยปี 2563 ก็เช่นเดียวกัน เรากำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ไม่แตกต่างจากเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่า GDP ปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 3% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และแรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศ แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทุกคนต้องติดตามในปีนี้ คือ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านว่า จะยืดเยื้อและขยายผลออกไปในวงกว้างหรือไม่ นี่ยังไม่รวมถึงปัจจัยลบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจไปทั่วโลก และทำให้ค่าเงินบาทผันผวนอยู่ในเวลานี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่องในปีนี้”
ที่มา - ไทยพับลิก้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad