คาดประกาศรับซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่ม Quick win ภายใน ก.พ.นี้ ปริมาณไม่เกิน100MW - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563

คาดประกาศรับซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่ม Quick win ภายใน ก.พ.นี้ ปริมาณไม่เกิน100MW


กระทรวงพลังงานรอนายกรัฐมนตรี ลงนามตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ตามมติ กพช.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 เพื่อเปิดประชุมกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดการรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ  โดยยังมั่นใจว่าในกลุ่ม Quick win จะสามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ได้ภายในเดือนก.พ.นี้ และลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนมี.ค. ก่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี2563
คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อการประชุมวันที่16 ธ.ค. 2562 ยังไม่สามารถที่จะเปิดประชุมอย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากยังรอหนังสือแต่งตั้งอย่างเป็นทางการซึ่งจะต้องลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ เสียก่อน  อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขับเคลื่อนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ทางนายกุลิศ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกันเป็นการล่วงหน้าได้ โดยหากมีการลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ เป็นที่เรียบร้อย ก็สามารถนำรายละเอียดที่เป็นที่ตกลงกัน เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อมีมติอนุมัติได้ทันที

ยงยุทธ จันทโรทัย อธิบดีพพ.(คนขวา)
นายยงยุทธ จันทโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ซึ่งเป็นเลขานุการในคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เปิดเผยว่า ขั้นตอนหลังจากที่คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯให้ความเห็นชอบ ก็คือทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะต้องออกเป็นประกาศรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าน่าจะดำเนินการได้ภายในเดือน ก.พ. 2563 นี้ โดยจะเป็นเฉพาะในส่วนโครงการที่เร่งรัดหรือกลุ่ม Quick win ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี2563 ก่อน  ซึ่งคาดว่าจะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันได้ภายในเดือนมี.ค. 2563  จากนั้นคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ จึงจะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อจะเปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป ที่อนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป
นายยงยุทธ กล่าวว่า  โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจะมีปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวม ประมาณ 700 เมกะวัตต์  ซึ่งจะแบ่งเป็นสัดส่วนของกลุ่ม Quick win ปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ โดยในพื้นที่ใดที่มีผู้ยื่นเสนอเข้าร่วมโครงการมากกว่า 1 ราย  ผู้ที่เสนอผลตอบแทนให้กับชุมชนสูงที่สุด จะเป็นผู้ที่ได้ขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า สาระสำคัญของมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562  ซึ่งเห็นชอบในหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นั้น กำหนดปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์และเป็นสัญญาประเภท Non-Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ แต่ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่อง  โดยแบ่งประเภทเชื้อเพลิงเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ชีวมวล, ชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) ,ชีวภาพ (พืชพลังงาน) ,และ เชื้อเพลิง ผสมผสานหรือ Hybrid ระหว่างชีวมวล หรือ ชีวภาพ ข้างต้น กับพลังงานแสงอาทิตย์
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่จูงใจนักลงทุน  ตามที่ กพช. เคยได้เห็นชอบไว้เมื่อ 17 ก.พ. 2560  คือพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ต้องแยกมิเตอร์ออกมาอย่างชัดเจน อัตรา 2.90 บาทต่อหน่วย ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.8482 บาทต่อหน่วย ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.2636 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) อัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน 100%)อัตรา 5.3725 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย) อัตรา 4.7269 บาทต่อหน่วย รวมทั้ง กำหนด Feed in Tariff  พรีเมี่ยมให้กับพื้นที่พิเศษที่อยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา อีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง
สำหรับรูปแบบการร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณร้อยละ 60 – 90 และ (2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 – 40 (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 40)  พร้อมกำหนดให้แบ่งรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ (1) สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย (2) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย
นอกจากนี้ผู้เสนอโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิงและราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้ว
ที่มา:(Energy News Center-ENC)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad