ผู้บริโภคต้องการความไว้วางใจ-การควบคุมความเป็นส่วนตัวในยุคเทคโนโลยี 4IR ครองโลก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ผู้บริโภคต้องการความไว้วางใจ-การควบคุมความเป็นส่วนตัวในยุคเทคโนโลยี 4IR ครองโลก



          PwC เผยรายงานล่าสุดพบ ผู้บริโภคทั่วโลกแห่ใช้งานเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ชี้ 90% มีการใช้งานเทคโนโลยีโฟร์ไออาร์แล้วอย่างน้อย 1 ประเภท และส่วนใหญ่ยังยินดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวหากได้รับประโยชน์ ขณะที่คนเอเชียกลัวเสี่ยงตกงานเพราะเทคโนโลยีสูงกว่าภูมิภาคอื่น แนะธุรกิจเร่งยกระดับทักษะแรงงาน และมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อสร้างความไว้วางใจและการควบคุมความเป็นส่วนตัวที่ผู้บริโภคต้องการ

          นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึง รายงาน Are we ready for the Fourth Industrial Revolution? ของ PwC ที่ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 6,000 คนและผู้บริหารอีก 1,800 คนใน 6 ประเทศทั่วโลกเพื่อทำความเข้าใจถึงความรู้สึกที่ผู้บริโภคมีต่อเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution technologies) หรือ เทคโนโลยีโฟร์ไออาร์ (4IR technologies) รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน โดยเทคโนโลยีที่ถูกใช้ในการสำรวจครั้งนี้หมายรวมถึง ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง บล็อกเชน และการพิมพ์แบบ 3 มิติ และอื่น ๆ
          PwC พบว่า ผู้บริโภคกำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้* และตระหนักดีถึงข้อดีในเรื่องของการประหยัดเวลาและการปรับปรุงการผลิต อย่างไรก็ดี พวกเขายังคงมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นสำคัญอื่น ๆ เช่น ความไว้วางใจ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการใช้งานของเทคโนโลยีโดยรวม และความสำเร็จของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้สร้างสมดุลระหว่างความสะดวกสบายและความไว้วางใจ
          รายงานระบุว่า ในขณะที่ผู้บริโภคชื่นชอบความสะดวกสบายที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ นำมาให้ แต่ยังไม่มั่นใจในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดย PwC พบว่า ผู้ถูกสำรวจทั่วทุกตลาดเห็นตรงกันในประเด็นนี้ โดยประเทศอย่างเกาหลีใต้ (74%) อินเดีย (70%) สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน (เท่ากันที่ 69%) จัดอันดับให้ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัยเป็นความกังวลอันดับแรก ตามด้วยสหราชอาณาจักร และเยอรมนีที่แสดงความกังวลน้อยกว่าเพียงเล็กน้อยที่ 66% และ 58% ตามลำดับ
          ในทางตรงกันข้าม เกาหลีใต้ (51%) ยังถือเป็นตลาดที่มีแนวโน้มที่จะใช้ผลิตภัณฑ์และบริการจากเทคโนโลยีโฟร์ไออาร์เพื่อเข้าถึงหรือจัดเก็บข้อมูลทางการเงินของตนมากที่สุด เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา (35%) สหราชอาณาจักร (24%) และเยอรมนี (20%) นอกจากนี้ เกาหลีใต้ (64%) สหรัฐอเมริกา และอินเดีย (เท่ากันที่ 62%) ก็เป็นตลาดที่มีแนวโน้มที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านสุขภาพเพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น หรือปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย
          ทั้งนี้ เมื่อให้ผู้ถูกสำรวจระบุถึงลำดับความสำคัญของการลงทุนในเทคโนโลยีโฟร์ไออาร์ 3 อันดับแรกพบว่า มีเพียง 40% ของผู้นำธุรกิจที่พูดถึงการแจ้งเตือนให้ผู้บริโภคทราบถึงการรั่วไหลของข้อมูล แม้ว่าผู้บริโภคจะจัดให้การแจ้งเตือนให้ทราบถึงการรั่วไหลของข้อมูลมีความสำคัญสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในการเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้เทคโนโลยีโฟร์ไออาร์ก็ตามขับเคลื่อนการปฏิรูปกำลังแรงงานในยุคโฟร์ไออาร์ เรื่องที่ต้องมองให้ไกลกว่าเทคโนโลยี
          รายงานระบุว่า ทั้งนายจ้างและผู้บริโภคเห็นพ้องกันในเรื่องของผลกระทบเชิงบวกของการประยุต์ใช้เทคโนโลยีโฟร์ไออาร์ในสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำจัดงานที่น่าเบื่อและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนี้ 59% ของผู้บริโภคกล่าวว่า เทคโนโลยีโฟร์ไออาร์ยังช่วยให้พวกเขาสามารถหาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานได้ดีขึ้น
          อย่างไรก็ดี ผู้นำธุรกิจและผู้บริโภคมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นผลกระทบของเทคโนโลยีโฟร์ไออาร์ที่มีต่อแนวโน้มการจ้างงานโดยผู้นำธุรกิจ (69%) เห็นว่า เทคโนโลยีโฟร์ไออาร์เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการสร้างงาน ในขณะที่ผู้บริโภค (45%) กลับมองว่า เทคโนโลยีโฟร์ไออาร์เป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อความมั่นคงในอาชีพ ซึ่งเมื่อพิจารณาประเด็นนี้มุมมองในระดับโลกพบว่า ความกังวลต่อความมั่นคงในอาชีพของผู้ถูกสำรวจในเอเชียยังอยู่ในระดับสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยอินเดีย (73%) เกาหลีใต้ (57%) และสาธารณรัฐประชาชนจีน (52%) มีผู้ถูกสำรวจที่แสดงความกังวลนี้เป็นส่วนใหญ่เปรียบเทียบกับสหราชอาณาจักร (44%) สหรัฐอเมริกา (37%) และเยอรมนี (33%)
          ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ว่าเป็นมากกว่าเรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นการปฏิวัติวิธีการทำงานและการใช้ชีวิตของพวกเรา ซึ่งความท้าทายของผู้นำธุรกิจอยู่ที่ความไม่เชื่อมโยงกันที่เห็นได้ชัดระหว่างลำดับความสำคัญของผู้นำองค์กรและลำดับความสำคัญของพนักงานเมื่อพูดถึงผลกระทบของการลงทุนด้านเทคโนโลยีโฟร์ไออาร์ในสถานที่ทำงาน โดยในมุมมองของพนักงานนั้น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำธุรกิจต้องสร้างกลไกที่เหมาะสมให้พวกเขาสามารถแลกเปลี่ยนความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่องานได้
          "ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัลยังถูกผลิตออกสู่ตลาดและเข้าสู่สถานที่ทำงานอย่างไม่ขาดสาย ผู้นำธุรกิจต้องยึดมั่นในการประยุต์ใช้แนวทางที่โปร่งใสและอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการยกระดับทักษะขององค์กร โดยมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนทั้งในมุมของธุรกิจและประโยชน์ที่แรงงานมนุษย์จะได้รับเมื่อนำเทคโนโลยีโฟร์ไออาร์มาใช้" นาย สตีฟ พิลส์แบรี ผู้นำสายงานด้านการปฏิบัติงานดิจิทัล PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าว
          "นี่ยังขึ้นอยู่กับนายจ้างที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับกำลังแรงงานด้วยการจัดให้มีการเรียนรู้แบบส่วนบุคคล และส่งเสริมการประยุกต์ใช้ทักษะใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโฟร์ไออาร์ทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงขั้นพื้นฐาน"
          ด้าน นางสาว วิไลพร กล่าวเสริมว่า "โอกาสของเทคโนโลยีโฟร์ไออาร์ในไทยจะยังมีอีกมาก เพราะการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรวมทั้งนวัตกรรมใหม่ ๆ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผู้ประกอบการ ซึ่งเทคโนโลยีที่เราเห็นองค์กรส่วนใหญ่นำมาใช้ค่อนข้างแพร่หลายแล้ว ได้แก่ เอไอ ระบบอัตโนมัติ หรือ การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญของไทยในเวลานี้ คือ การยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ธุรกิจไทยต้องเร่งจัดการเพราะคนส่วนใหญ่ยังกังวลว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาแย่งงาน มากกว่าช่วยงานในอนาคต นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการวางระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้วย เพื่อเป็นการสร้างความไว้วางใจและภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับองค์กร"

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad