ขออากาศดีคืนมา! ประชาชนและ 8 องค์กรสิ่งแวดล้อมจี้รัฐจัดการฝุ่น - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ขออากาศดีคืนมา! ประชาชนและ 8 องค์กรสิ่งแวดล้อมจี้รัฐจัดการฝุ่น

กรีนพีซนำ 7 องค์กรและประชาชนยื่นหนังสือร้องทุกข์ให้รัฐปรับปรุงการรับมือปัญหาฝุ่น ย้ำควรสื่อสารกับประชาชนให้เหมาะสม พร้อมใช้สิทธิตรวจสอบและติดตามการดำเนินการของรัฐ ผู้ช่วยรมต.ทส. รับข้อเสนอ ชวนตัวแทนเข้าร่วมหารือต่อ
ธารา บัวคำศรี ยื่นจดหมายแก่ นพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
วันนี้ (23 มกราคม) กรีนพีซ ประเทศไทย และอีก 7 องค์กรเครือข่าย รวมถึงภาคประชาชนราว 40 คน รวมตัวในกิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” โดยยื่นจดหมายรวมข้อเสนอการแก้ไขปัญหาฝุ่นแก่ตัวแทนรัฐบาล ณ บริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์มีใจความสำคัญต่อไปนี้
  1. การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563  ได้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต 12 ข้อ แต่ยังขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่มีฐานข้อมูลที่มาจากการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง เช่น การตรวจสอบและสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศจนกว่าจะมีการแก้ไขนั้น ไม่มีฐานข้อมูลรองรับว่าจะตรวจสอบโรงงานประเภทใด และการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษ PM2.5 (Inventory) นอกจากนี้อาจไม่ได้คำนึงถึงมลพิษทางอากาศข้ามจังหวัดหรือข้ามพรมแดน
  2. มาตรการขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ เอกชน ประชาชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานขาดแรงจูงใจทำให้ไม่อาจเกิดความร่วมมือที่แท้จริง ควรลดราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทั้งระบบหรือใช้ขนส่งสาธารณะฟรีในวันที่มีวิกฤตฝุ่น 
  3. ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากและเครื่องฟอกอากาศ ได้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยให้มากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้าง clean room กระจายอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
กลุ่มผู้เรียกร้องเดินขบวนไปสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
  1. รัฐบาลต้องปรับมาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศของไทยให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายชั่วคราวที่ 3 ของ WHO (Interim Target 3) โดยที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีคือ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ.2563 และควรออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ซึ่งปัจจุบันยังใช้มาตราฐานฝุ่นละอองรวมที่การตรวจวัดไม่เจาะจง
  2. รัฐบาลต้องตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน เพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 ในเมืองใหญ่
ผู้เข้าร่วมชุมนุมกล่าวปราศรัย / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
  1. การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จากภาคเกษตรกรรม ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเคารพสิทธิมนุษยชน เพราะประชาชนมีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่
  2. มาตรการของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศให้มีการลดการเผา จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ทั้งในแง่การใช้มาตรการที่เข้มงวดให้ผู้ประกอบการยุติการรับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผาทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นในระยะยาว จำเป็นที่จะลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยวทั้งข้าวโพดและอ้อย ซึ่งนอกจากผลตอบแทนจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัวแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบกว้างขวาง
ผู้เข้าร่วมชุมนุม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
แถลงการณ์ดังกล่าวยืนยันว่า วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติลงโทษ หากแต่แสดงถึงรากเหง้าของปัญหามาจากการพัฒนาที่ผิดทิศทาง และไม่มีมาตรการป้องกันทางสิ่งแวดล้อมรองรับก่อนการตัดสินใจอย่างเพียงพอ รวมถึงรัฐควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ปัญหา นอกจากนั้นผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ยังย้ำเตือนกับตัวแทนภาครัฐให้สื่อสารกับประชาชนให้เหมาะสม
นพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับเรื่องจากกลุ่มผู้เรียกร้อง ย้ำว่าตนมาจากภาคประชาชนเช่นกัน ชี้แจงว่า วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมหารือลงรายละเอียดมาตราต่างๆ กับพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พร้อมเชิญตัวแทนจากกลุ่มผู้เรียกร้องเข้าร่วมประชุมต่อไปเพื่อให้วางแผนจัดการปัญหาฝุ่นได้ครบด้านมากขึ้น
เมื่อสองปีก่อน กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมทำนองเดียวกัน โดยยื่นข้อเรียกร้องต่อกรมควบคุมมลพิษ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ให้เพิ่มเติมการดำเนินงานในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) พร้อมส่งมอบนาฬิกาทรายบรรจุฝุ่นที่เก็บรวบรวมจากพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากในกรุงเทพฯ และจากหลายจังหวัดเพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ถึงความเร่งด่วนของวิกฤต 
“มาร่วมกิจกรรมวันนี้แล้วได้เห็นหลายภาคส่วนและช่วงอายุออกมาพูดความคิดเห็นของตัวเองออกมา ผมคิดว่ารัฐควรแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยให้ความรู้คน ปัญหาฝุ่นอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อกลุ่มคนทั่วไป แต่กลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มันส่งผลได้เร็วมาก ผมอยากให้คนมีอำนาจจริงใจกับการแก้ปัญหา ตั้งใจทำหน้าที่ที่ตัวเองสมัครเข้ามา”
สิทธิชาติ สุขผลธรรม ผู้เข้าร่วมการประท้วงแสดงความคิดเห็น
สิทธิชาติ สุขผลธรรม ผู้เข้าร่วมชุมนุม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ผู้ร่วมชุมนุมมีคนจากหลากหลายกลุ่ม เช่น ตัวแทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กลุ่มผลักดันระบบรถประจำทาง Mayday นักเรียนนักศึกษา คนทำงาน และชาวต่างชาติ นอกจากนั้นยังมีประชาชนจากจังหวัดกำแพงเพชรและสตรีตั้งครรภ์ ปัจจุบัน กลุ่ม Friend Zone ได้สร้างแคมเปญบนเว็บไซต์ change.org สนับสนุนให้รัฐออกมาตรการตั้งรับวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่จะเกิดขึ้นอีกในภายภาคหน้า โดยมีผู้ลงชื่อสนับสนุนราว 38,000 ราย 
ในเช้าวันเดียวกัน ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาเร่งแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่วิกฤตเป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะการควบคุมต้นเหตุของปัญหา ทั้งให้กำลังพลร่วมเสียสละและรับผิดชอบสังคมไปด้วยกัน
ผู้เข้าร่วมชุมนุม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ผู้เข้าร่วมชุมนุมชาวไทยและชาวอังกฤษ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad