รับปีหนูสวย! ดีไอทีพี ยิ้มแนวโน้มส่งออกธุรกิจความงามสุขภาพยังสวยปัง พร้อมดันผปก.ลุยตลาดออนไลน์ด้วย Big Data และ AI - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

รับปีหนูสวย! ดีไอทีพี ยิ้มแนวโน้มส่งออกธุรกิจความงามสุขภาพยังสวยปัง พร้อมดันผปก.ลุยตลาดออนไลน์ด้วย Big Data และ AI


รับปีหนูสวย! ดีไอทีพี ยิ้มแนวโน้มส่งออกธุรกิจความงามสุขภาพยังสวยปัง พร้อมดันผปก.ลุยตลาดออนไลน์ด้วย Big Data และ AI

- ดีไอทีพี พร้อมผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผ่านโครงการ "Empowering World Class Health & Beauty Product" จัดทัพธุรกิจสุขภาพและความงามไทยสู่ตลาดโลก
          กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA ยกทัพกูรูผู้เชี่ยวชาญธุรกิจเกี่ยวกับความงามและสุขภาพร่วมเผยเทคนิคให้กับผู้ประกอบการในการตลาดเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั่วโลก หวังคว้าโอกาสส่งออกตลอดปี 2020 พร้อมเปิดแผนกลยุทธ์ทำการตลาดออนไลน์ ด้วยเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์ ที่วิเคราะห์ความต้องการเฉพาะเจาะจงของผู้บริโภคในตลาด มั่นใจธุรกิจสุขภาพความงามไทยยังมีโอกาสสูงในการขยายตลาดและปั้นแบรนด์สินค้าของตนให้เติบโตในระดับนานาชาติ
          นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพความงามให้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมุ่งเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ พร้อมมุ่งผลักดันให้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ พร้อมที่จะสร้างตลาดใหม่ ๆ ได้ในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งนี้ จึงได้จัดสัมมนา "Empowering World Class Health & Beauty Product" เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งจับทิศทางธุรกิจปี 2020 กลยุทธ์ทางการตลาด การทำตลาดออนไลน์ในยุค Digital Disruption และการนำเอา Big Data Analytic และ Design Thinking มาช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจในผู้บริโภคได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมุ่งแก้ไข Painpoint ของธุรกิจดังกล่าวให้มีความทัดเทียมกับประเทศชั้นนำ เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นแบรนด์ที่รู้จักและเป็นที่ต้องการในตลาดโลก

รับปีหนูสวย! ดีไอทีพี ยิ้มแนวโน้มส่งออกธุรกิจความงามสุขภาพยังสวยปัง พร้อมดันผปก.ลุยตลาดออนไลน์ด้วย Big Data และ AI
          สำหรับ โครงการ "Empowering World Class Health & Beauty Product" จัดทัพธุรกิจสุขภาพและความงามไทยสู่ตลาดโลก นั้น เป็นการจัดสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสนใจสุขภาพและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากสินค้าไทยมีจุดขายตรงวัตถุดิบและส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ สมุนไพร และมีงานวิจัยรองรับที่เป็นตัวยืนยัน การผลิตได้มาตรฐาน ความเชื่อมั่นปลอดภัย ประกอบกับในปัจจุบันช่องทางการตลาดออนไลน์สามารถช่วยลดต้นทุนการตลาด สื่อสารข้อมูลข่าวสารถึงลูกค้าและผู้บริโภคได้โดยตรงและจำนวนมาก และระบบขนส่ง Logistic ที่มีความทันสมัยเชื่อมโยงทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้เข้าถึงตลาดทั่วโลก โดยงานดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญมากมายที่มาช่วยให้ความรู้และพัฒนาธุรกิจสุขภาพความงามของไทย อาทิ คุณพัชรพล สุทธิธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท Ireal Plus (Thailand) Co., Ltd. คุณรณกร แซ่ลี้ ผู้บริหาร บริษัท แอนนา เบลล่า จำกัด คุณศิรินทรา เส็งสิน Co-CEO ( OHO Group) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม กลุ่มบริษัทโอ้โห คุณธนคินทร์ ศิริดุสิตวงศ์ CEO บริษัท เดอะ สปริงบ๊อกซ์ จำกัด คุณธันย์ธรณ์ บุญจิรกิตติ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮปปี้ฟอร์เอฟเวอร์ กรุ๊ป จำกัด และคุณศุภเจตน์ ตระการศิริวานิช บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด ซึ่งโครงการดังกล่าวได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารส่งเสริมการส่งออกระหว่างประเทศ
          นายนันทพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาดังกล่าว ยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญคือ "เทคนิคในการส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดจีน" เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นผลให้มีการใส่ใจสุขภาพ ความสวยความงาม และการดูแลสุขภาพผิว และยังทำให้ตลาดเครื่องสำอางในประเทศจีนขยายขนาดอย่างต่อเนื่อง โดยยังได้ให้ความรู้ในเรื่องมาตรฐานของสินค้า เพราะผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้มีการประกาศให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอาง ช่วยควบคุมพฤติกรรมของผู้ผลิตและปกป้องสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะคุณภาพสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนก่อนว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายชอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทใด ลักษณะใด เพื่อนำมาต่อยอดการพัฒนาสินค้าให้ดึงดูดใจผู้บริโภคชาวจีนได้ รวมทั้งดำเนินการติดต่อทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้า เพื่อความสะดวกในการติดต่อขอเอกสารกับหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจให้แก่บริษัทคู่ค้าชาวจีน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจส่งออกที่ดี มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเครื่องสำอางที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในจีนได้นั้น สินค้าทุกชิ้นจำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนการดำเนินการและตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มงวด การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพเครื่องสำอางจากหน่วยงาน SFDA , ศุลกากร และ CIQ ที่ตรวจสอบความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ทั้งเรื่องฉลากสินค้า ขนาด และปริมาณ เป็นต้น
          นายนันทพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ธุรกิจด้านสุขภาพความงามถือเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งของประเทศไทย มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 10% ติดต่อกันหลายปี โดยในปี 2019 ที่ผ่านมา ธุรกิจดังกล่าวมีมูลค่าถึง 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% หรือประมาณ 1.68 แสนล้านบาท และตลาดส่งออก 40% หรือกว่า 1.12 แสนล้านบาท (การเติบโตดังกล่าวมาจากผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 1,800 ราย) ซึ่งยังไม่นับรวมถึงธุรกิจอาหารเสริมซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 6.67 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเสริมความงาม อาหารเสริมสุขภาพและรักษาโรค และอาหารเสริมสมรรถภาพร่างกาย นอกจากนี้ หากมองถึงภาพรวมตลาดโลก มูลค่าของตลาดสินค้าความงามอยู่ที่ประมาณ 9.3 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยครองอันดับที่ 17 ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพความงามไทย มีโอกาสสูงในการขยายตลาดและปั้นแบรนด์สินค้าของตนให้เติบโตเข้าสู่ตลาดโลก แต่ต้องรู้จักปรับตัวให้ทันกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงและต้องหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และการใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เพิ่มมากขึ้น
          นายพัชรพล สุทธิธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท Ireal Plus (Thailand) Co., Ltd. หนึ่งในวิทยากรผู้บรรยายเกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มของธุรกิจความงามปี 2020 ว่า "ไอเรียลพลัส เป็นบริษัทผู้รับผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริมแบบครบวงจร (OEM,ODM) ให้กับแบรนด์ต่างๆมากกว่า 2,000 ผลิตภัณฑ์ทั่วโลก ด้วยการสร้างฐานการผลิตเครื่องสำอางที่มีความเข้มแข็ง มีกำลังการผลิต 5 ตันต่อวัน โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยล่าสุด จากประเทศเยอรมันและญี่ปุ่น และสารสกัดธรรมชาติที่มีมาตราฐานและผ่านการวิจัยจากห้องแล็ปของบริษัทชั้นนำทั่วทุกมุมโลก มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล โดยที่ผ่านมา บริษัทได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากทางภาครัฐ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) ที่เป็นส่วนผลักดันให้บริษัทได้เป็นที่รู้จักในสายตาของชาวโลก วันนี้บริษัทเราจึงพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อส่งต่อความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการแบรนด์ไทยรายอื่นๆให้ก้าวไกลในตลาดโลกได้อย่างประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน" 
          ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการหรือกิจกรรมอื่นๆ ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ที่ nea.ditp.go.th หรือ www.ditp.go.th หรือ www.facebook.com/nea.ditp หรือ สายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169
           เกี่ยวกับ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA)
          สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจหลักในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออก ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สถาบัน NEA มีจุดแข็งของการดำเนินงานด้วยการสร้างระบบ (Ecosystem) ด้านการค้าระหว่างประเทศ ให้มีความพร้อมโดยการแบ่งปันความรู้ด้านการค้าการส่งออก ผ่านการบูรณาการการให้บริการจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างเครือข่ายการค้าที่เข้มแข็ง พร้อมเปิดโอกาสด้านการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง ผ่านการเชื่อมต่อกับกิจกรรมอื่นๆของกรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad