ชัดเจน! เปิปพิศดารต้นเหตุ ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ ผู้เชี่ยวชาญเตือน ไม่เลิกกินสัตว์ป่า เสี่ยงเจอโรคใหม่ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ชัดเจน! เปิปพิศดารต้นเหตุ ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ ผู้เชี่ยวชาญเตือน ไม่เลิกกินสัตว์ป่า เสี่ยงเจอโรคใหม่

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาชี้ การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีต้นเหตุจากการบริโภคสัตว์ป่า พร้อมเตือนว่าพฤติกรรมการบริโภคของแปลก นอกจากจะสร้างความเสี่ยงให้เชื้อไวรัสในสัตว์ป่าแพร่สู่มนุษย์ ก่อให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ ยังคร่าชีวิตสัตว์หลายสายพันธุ์จนใกล้สูญพันธุ์
เมื่อวันที่ 26 มกราคม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มีที่มาจากสัตว์ชนิดใด แต่เป็นที่ยืนยันแล้วว่า ต้นตอของ ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ มีที่มาจากเชื้อไวรัสในสัตว์ป่าที่ติดต่อมาสู่คน จากการบริโภคสัตว์ป่าที่มีเชื้อ
คนจีนใส่หน้ากาก
ภายหลังข่าวการระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมาก ที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต ต่างสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดต่อโรค / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม /ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบทางพันธุกรรม พบว่า เชื้อไวรัสตัวนี้มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวมากที่สุดกว่า 87% ในขณะเดียวกัน เชื้อไวรัสตัวนี้ก็มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ไวรัสที่ค้นพบในงูด้วย
“เชื้อไวรัสโคโรนาต้นตอของการระบาดในครั้งนี้ เป็นเชื้อไวรัสที่ไม่เคยพบการระบาดในคนมาก่อน โดยไวรัสประเภทนี้ส่วนใหญ่สามารถพบได้ทั่วไปในประชากรสัตว์ป่าอยู่แล้ว จึงสันนิษฐานว่าเชื้อมีการติดต่อจากสัตว์สู่คน จากนั้นจึงกลายพันธุ์จนสามารถทำให้เกิดการติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ จึงทำให้ไวรัสอู่ฮั่นมีแนวโน้มที่จะสามารถทำให้เกิดการะบาดในวงกว้างได้” ศ.นพ.ยง อธิบาย
เขาชี้ว่า การกระโดดข้ามสายพันธุ์ของไวรัสจากสัตว์สู่คนในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะการระบาดของโรคร้ายหลายสายพันธุ์เช่น โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS) หรือแม้แต่โรคอีโบลา ต่างมีต้นตอมาจากการติดต่อของเชื้อโรคจากสัตว์ป่าสู่คนผ่านการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า
“การเปิปพิสดารเนื้อสัตว์ป่าอย่างที่เห็นชาวจีนจำนวนหนึ่งบริโภคผ่านโซเชียลมีเดีย ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่อาจทำให้เชื้อไวรัสที่พบในสัตว์กระโดดจากสัตว์สู่คนได้ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สมควรลดละเลิก เพราะนอกจากการบริโภคสัตว์แปลก สัตว์ป่า อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อไวรัสโครานาสายพันธุ์ใหม่ระบาดตั้งแต่แรก ยังสร้างความเสี่ยงให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อใหม่ๆจากสัตว์สู่มนุษย์ในอนาคตอีกด้วย” ศ.นพ.ยง กล่าว
เขาอธิบายเพิ่มเติมถึงรูปแบบการติดต่อ และความร้ายแรงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า ผู้ป่วยจากไวรัสชนิดนี้จะมีอาการคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่คือ มีไข้สูง ไอ ในกรณีร้ายแรงสามารถทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจและรุนแรงจนเกิดภาวะปอดบวม ปอดอักเสบ จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า เมื่อเทียบกับไวรัสเมอร์ส หรือซาร์ส ที่คล้ายคลึงกัน เชื้อไวรัสโคโรนาอู่ฮั่นมีความร้ายแรงน้อยกว่า โดยมีอัตราการตายอยู่ที่ 2 – 3% เชื้อไวรัสตัวนี้สามารถติดต่อคนได้ทุกเพศทุกวัย โดยกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงที่สุดได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และคนชรา ที่ส่วนใหญ่มักมีสุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้ว
สำหรับการรักษาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงเป็นการรักษาตามอาการ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในตัวจัดการกับไวรัสจนหายดีเอง เพราะในขณะนี้ยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัสชนิดนี้ให้หายขาดได้
“การระบาดของเชื้อไวรัสอู่ฮั่นในวงกว้างนับเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลและควรจับตามองอย่างใกล้ชิด แต่กระนั้นประชาชนทั่วไปไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป และควรตั้งรับอย่างมีสติด้วยการหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน หมั่นกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมืออยู่เสมอ” ศ.นพ.ยง กล่าว
ค้างคาว
ค้างคาวถือเป็นสัตว์ที่มีระบบภูมิคุ้มกันดีที่สุด ในภาพค้างคาวขอบหูขาวเล็ก (lesser short-nosed fruit bat, Cynopterus brachyotis) //ขอบคุณภาพจาก: Siripannee Noina Supratya
ด้านนักวิจัยจากองค์กรติดตามการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมธินีย์ ภัสสราอุดมศักด์ เปิดเผยว่า ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าเพื่อตอบสนองพฤติกรรมบริโภคสัตว์ป่าในจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงให้สัตว์ป่าหายากหลายสายพันธุ์ต้องตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ยังทำให้เกิดความเสี่ยงการระบาดของโรคติดต่อใหม่ๆจากสัตว์สู่มนุษย์
“ตลาดการค้าสัตว์ป่าในจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในแต่ละเมืองใหญ่มักจะมีตลาดการค้าสัตว์ป่าเพื่อการบริโภคเช่นเดียวกับที่เมืองอู่ฮั่น เพราะคนจีนจำนวนมากยังมีความเชื่อว่าเนื้อสัตว์ป่ามีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง อีกทั้งดยังมองว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าเป็นการแสดงฐานะความร่ำรวย ด้วยเหตุนี้ตลาดจีนจึงยังมีความต้องการเนื้อสัตว์แปลกสัตว์ป่าเช่น นอแรด, ตัวลิ่น, ค้างคาว, งู หรือหูฉลาม เป็นจำนวนมาก” เมธินีย์ กล่าว
“สัตว์ป่าส่วนมากเช่น ค้างคาว มักมีเชื้อโรคหลายสายพันธุ์แฝงอยู่ในร่างกาย แต่เชื้อบางชนิดอาจไม่แสดงอาการโรคในสัตว์ แต่สามารถติดต่อและก่อโรคในมนุษย์ได้ การขังสัตว์ป่าเป็นจำนวนมากในกรงด้วยกันระหว่างการขนส่ง สร้างความเสี่ยงให้เกิดการแพร่เชื้อระหว่างสัตว์สู่สัตว์ด้วยกันเอง และเมื่อคนบริโภคสัตว์เหล่านี้เข้าไปก็อาจทำให้เกิดการติดต่อเชื้อโรคชนิดใหม่ๆได้”
นอกจากความนิยมการบริโภคสัตว์ป่าจะยังคงสูงมากในจีน เธอกล่าวว่า ประเทศไทยเองก็ยังมีคนส่วนหนึ่งที่ยนังมีความเชื่อในรูปแบบเดียวกัน เห็นได้ชัดจากกรณีเจ้าสัวเปรมชัย ที่เข้าไปล่าเสือดำถึงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพี่อนำชิ้นส่วนสัตว์ป่ามาบริโภค
ดังนั้นเธอจึงสรุปว่า การแพร่ระบาดของไวรัสอู่ฮั่น จึงถือเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับมนุษย์ว่าไม่ควรบริโภคสัตว์ป่า เพราะนอกจากจะเป็นการคุกคามความอยู่รอดของสัตว์ป่าหลายสายพันธุ์ ยังนำไปสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย
ไวรัสอู่ฮั่น
แผนที่แสดงสถานการณ์การระบาดของไวรัสอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 25 มกราคม //ขอบคุณข้อมูลจาก: https://gisanddata.maps.arcgis.com/
อนึ่ง จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 26 มกราคม เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีการพบผู้ป่วยยืนยันที่ติดเชื้อจากต่างประเทศแล้ว 8 ราย (กลับบ้านแล้ว 5 ราย อีก 3 รายนอนโรงพยาบาล ) ยังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทย และมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 84 ราย คัดกรองจากสนามบิน 24 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 60 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 45 ราย
สำหรับสถานการณ์การระบาดทั่วโลก พบว่าตั้งแต่ 5 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2563 พบผู้ป่วย 21ราย ใน 10 ประเทศ ส่วนประเทศจีน ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2563 พบผู้ป่วย 1,303 ราย เสียชีวิต 41 ราย

ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad