นักวิจัยเผยอากาศเป็นพิษ เพิ่มความเสี่ยงโรคร้าย ทำลายเศรษฐกิจประเทศ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

นักวิจัยเผยอากาศเป็นพิษ เพิ่มความเสี่ยงโรคร้าย ทำลายเศรษฐกิจประเทศ

ฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงโรคต่างๆ // ขอบคุณภาพจาก: รศ.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย
แพทย์เปิดเผย PM2.5 สาเหตุเกิดโรคร้าย เพิ่มยอดเสียชีวิต 18% ชาวไทยต้องเผชิญแทบทุกภาค แนะประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างสม่ำเสมอ และอย่าละเลยสวมหน้ากาก N95 ด้านอ.เศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ ชี้ ปัญหาฝุ่นพิษทำชาติเสียหายกว่า 2.06 ล้านล้านบาท
วันนี้ (11 มกราคม พ.ศ.2563) รศ.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยแพร่ผลการศึกษาเรื่องผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพในงานเสวนา “ฝุ่นพิษ PM2.5 กับความรัก” จัดโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเปิดเวทีให้นักวิชาหลายสายพูดคุยถึงความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ฝุ่นและผลกระทบต่อประชาชน
จากการศึกษาข้อมูลปีพ.ศ. 2553 – 2558 พบว่าเมื่อความเข้มข้นของ PM2.5 เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร อัตราการเสียชีวิตรวมจากทุกสาเหตุจะเพิ่มขึ้น 18% โรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (โรคหัวใจขาดเลือด) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด และโรคไตเรื้อรัง
ฝุ่นจะเข้าสู่ร่างกายได้สองทาง ได้แก่ ทางผิวหนังสำหรับคนที่มีบาดแผล และผ่านการหายใจ การหายใจเป็นวิธีที่ฝุ่นเข้าสู่ร่างกายได้มากสุด โดยยิ่งฝุ่นมีขนาดเล็กจะยิ่งเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนอย่าง PM2.5 จะเข้าถึงทางเดินหายใจส่วนล่าง และแพร่สู่กระแสเลือด ไปยังอวัยวะต่างๆ ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะ
แม้ร่างกายเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันฝุ่น เช่น ขนจมูกและเยื่อบุทางเดินหายใจในจมูกคอยช่วยจับฝุ่นที่เข้าทางการหายใจและเม็ดเลือดขาวที่ช่วยกำจัดฝุ่น แต่หากการสูดอากาศที่มีฝุ่นมากกว่าหนึ่งเดือน จะทำให้เกิดการสะสมจนเสี่ยงต่อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงอย่างสตรีตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงวัยและคนทำงานในที่แจ้ง
“นอกจากขนาดของฝุ่นละอองจะมีผลต่อสุขภาพแล้ว ชนิดองค์ประกอบของฝุ่นก็มีผลกระทบกับสุขภาพเช่นเดียวกัน แต่ละภาคของไทยก็มีส่วนประกอบฝุ่นต่างกันไป” ศิริรัตน์ อธิบาย
รศ.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย นำเสนอองค์ประกอบฝุ่นในภูมิภาคต่างๆ ของไทย / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ภาคกลาง มักมีฝุ่นชนิดคาร์บอนดำ (Black Carbon) เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ในรถยนตร์น้ำมันดีเซล ถ่านหิน และเตาเผาในโรงงาน สัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ  
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบซัลเฟต (Sulfate) ปริมาณมาก การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับสารอื่นๆ เกิดเป็นซัลเฟต ก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ภูมิภาคนี้ยังประสบกับฝุ่นชนิดคาร์บอนดำกับฝุ่นชนิด Dust ซึ่งเพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ภาคเหนือ พบความเข้มข้นฝุ่นชนิด Dust และคาร์บอนอินทรีย์ (Organic Carbon) ส่วนมากเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงที่อุณหภูมิต่ำและการเผาชีวมวลในที่โล่ง สัมพันธ์กับอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังและมะเร็งปอด ซึ่งภาคเหนือพบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดฝั่งตะวันออกที่ลมพัดฝุ่นไปกองบริเวณนั้น
ด้านภาคใต้ของไทยไม่ประสบกับปัญหาฝุ่นละอองเนื่องจากมีลมพัดมาก ฝุ่นจึงไม่สะสม
การวิจัยทางระบาดวิทยาดังกล่าวอาศัยข้อมูลย้อนหลังของดาวเทียมนาซ่า ซึ่งแสดงค่าความลึกเชิงแสงของอนุภาคแขวนลอยในชั้นบรรยากาศ (aerosol optical death: AOD) ในพื้นที่ประเทศไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลความเข้มข้นฝุ่น เนื่องจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่แสดงค่า PM2.5 ในไทยยังมีไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จากนั้นจึงนำข้อมูลดังกล่าวมาหาความสัมพันธ์การเสียชีวิต โดยใช้กระบวนการทางสถิติ ตัดปัจจัยอื่นที่อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ออกเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ความสัมพันธ์ของฝุ่นกับโรค
รศ.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย นำเสนอความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นจากความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 เส้นสีเหลืองคือค่ามาตรฐานความเข้มข้นฝุ่นตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก เส้นสีแดงแสดงถึงค่ามาตรฐานของไทย / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
เมื่อพิจารณาค่ามาตรฐานความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 ของไทยกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก จะเห็นว่าเกณฑ์ไทยที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ มากขึ้นเมื่อเทียบกับเกณฑ์ 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เช่น มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดอุดตันเพิ่มขึ้น 44 %
“เราไม่ควรตระหนกจนเกินไป แต่ต้องไม่ละเลย ประชาชนควรติดตามค่าฝุ่นอย่างสม่ำเสมอ อาจหาซื้อเครื่องเซนเซอร์วัดค่าฝุ่นไว้ดู ถึงแม้ว่าค่าอาจคาดเคลื่อน 10-20% แต่ราคาไม่สูงมาก ยิ่งถ้าเราเป็นกลุ่มเสี่ยง เวลาออกข้างนอก ค่าอากาศเป็นสีเหลืองให้ใส่หน้ากาก N95 เพราะหน้ากากอนามัยกันฝุ่น PM2.5 ได้ไม่พอ คนมีภูมิแพ้สามารถแก้อาการระยะสั้น เช่น หยอดตาแก้ระคายเคือง ล้างจมูก ส่วนประชาชนทั่วไป เวลาเห็นค่าอากาศเป็นสีส้มควรใส่หน้ากากให้เรียบร้อย” 
ด้าน รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศยังส่งผลกระทบร้ายแรงด้านเศรษฐกิจ โดยจากการศึกษา ต้นทุนมลพิษทางอากาศของสังคมไทย พบว่า ปริมาณมลพิษฝุ่น PM10 ทุก 1 ไมโครกรัม/ลูกบากศ์เมตรที่เพิ่มขึ้นเกินระดับที่ปลอดภัย จะสร้างความเสียหายต่อสังคมเป็นมูลค่ากว่า 17,148 ล้านบาท/ปี 
โดยจากตัวเลขความเสียหายจากมลพิษทางอากาศดังกล่าว หากนำมาคำนวณกับปริมาณฝุ่น PM10 เฉลี่ยทั้งปีของกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2561 พบว่า ในปีดังกล่าวมลพิษฝุ่นในกรุงเทพฯ ได้สร้างความเสียหายมากถึง 556,327 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผลการศึกษาชิ้นนี้ยังประเมินพบว่า ในกรณีที่ทุกครัวเรือนได้รับผลกระทบจากมลพิษฝุ่น มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากมลพิษทั้งประเทศอาจสูงถึง 2.06 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.64 ของ GDP ประเทศ
“มลพิษทางอากาศรวมถึง PM2.5 ก่อให้เกิดต้นทุนกับสังคมไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งที่เจ็บป่วยแล้วและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือยังไม่เจ็บป่วยแต่กำลังสะสมสารมลพิษในร่างกายและรอวันแสดงอาการ โดย PM2.5 สามารถก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด อาทิ มะเร็งปอด เส้นเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน โรคหัวใจขาดเลือด” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
“มลพิษทางอากาศยังทำให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยและเครื่องฟอกอากาศ นอกจากนั้น มลพิษทางอากาศยังทำให้ความสุขของประชาชนลดลงเพราะไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ส่งผลให้เด็กเล็กซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต สุขภาพไม่แข็งแรง และยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อการท่องเที่ยวอีกด้วย”
อ่านเอกสารการเสวนาเพิ่มเติมได้ที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad