สานพลังต้านเหมืองถ่านหินอมก๋อย ชาวกะเบอะดินบวชป่าสามความเชื่อ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

สานพลังต้านเหมืองถ่านหินอมก๋อย ชาวกะเบอะดินบวชป่าสามความเชื่อ

แผนที่แสดงพื้นที่สัมปทานเหมืองซ้อนทับกับพื้นที่ป่าจิตวิญญาณซึ่งประกอบพิธีบวชป่า พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และแหล่งน้ำ  /  สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ชาวบ้านกะเบอะดินจัดงานบวชป่าผสานสามความเชื่อ คัดค้านการประกาศพื้นที่สัมปทานเหมืองถ่านหินทับพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชน นักกฎหมายเสริม การละเมิดจิตวิญญาณคือการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรัฐธรรมนูญ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ชาวบ้านกะเบอะดิน หมู่ 12 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จัดงานบวชป่าในชื่องาน “กะเบอะดิน อัตลักษณ์ จิตวิญญาณ ผืนป่า” ผสมผสานสามความเชื่อ ได้แก่ ความเชื่อกะเหรี่ยงดั้งเดิม พุทธ และคริสต์ ณ พื้นที่ป่าจิตวิญญาณภายในชุมชน
ชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านข้างเคียงเข้าร่วมรวมกว่า 500 คน งานครั้งนี้ประกอบพิธีบวชป่าผสมผสานหลายความเชื่อเนื่องจากคนในชุมชนนับถือหลายศาสนาต่างกันไป  เริ่มต้นด้วยการประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ ขับร้องบทเพลงทางศาสนาเป็นภาษากะเหรี่ยงนำโดย “ตุ๊” ผู้ประกอบศาสนา ก่อนเข้าสู่พิธีทางศาสนาพุทธ ชาวบ้านผูกผ้าจีวรให้ต้นไม้ในบริเวณเพื่อเป็นการทำบุญและประกาศพื้นที่ห้ามตัดไม้
ชาวบ้านทำพิธีบวชให้ต้นไม้ในพื้นที่ป่าจิตวิญญาณ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
บรรยากาศงานบวชป่า / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
หมู่บ้านจัดพิธีบวชป่าทุกปี แต่สิ่งที่พิเศษปีนี้คือการบวชต้นไม้ในพื้นที่ป่าจิตวิญญาณ “พะตี” ปราชญ์ชาวบ้านอาวุโส เล่าถึงสาเหตุการเลือกจัดงานในพื้นที่นี้ว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ประกอบพิธีทำบุญไร่นาตามความเชื่อกะเหรี่ยงดั้งเดิมโดยมักจะจัดพิธี 2 รอบต่อปีสำหรับการทำนาและ 3 รอบสำหรับพืชเศรษฐกิจ เช่น มะเขือเทศและฟักทอง ซึ่งเป็นพืชรายได้ของชาวบ้าน  
“เป็นครั้งแรกของหมู่บ้านที่จัดขึ้นใหญ่แบบนี้ รู้สึกดีที่ได้เห็นพลังร่วมมือกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน” ปีแนน เยาวชนกะเบอะดินวัย 19 ปี แสดงความเห็น งานครั้งนี้เธอกับเพื่อนๆ เยาวชนได้เป็นแกนนำจัด โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชาวบ้านและนักเรียนจากโรงเรียนบ้านอ่างขาง 
งานดังกล่าวยังถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมกะเหรี่ยงในชุมชนท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ผู้ใหญ่ที่รู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยกันทอตุงสีสันสวยงามและสานไม้ไผ่เป็น “ตะเตเหล” สัญลักษณ์กันผีที่มักติดไว้เหนือทางเข้าบ้านเพื่อใช้ประดับตกแต่งในงาน นอกจากนี้ยังเป็นงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะ ด้วยการสานไม้ไผ่เป็นของใช้ต่างๆ เช่น ฉลอมไม้ไผ่สำหรับถวายสังฆทานพระสงฆ์ แก้วน้ำ ถังขยะ รวมถึง “ถ่อถี้” กระบอกไม้ไผ่คล้ายกระดานหก ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้แหล่งน้ำ
ทางเข้างานบวชป่า ตกแต่งด้วยสัญลักษณ์พื้นเมือง “ตะเตเหล” / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
นิทรรศการแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยง / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ภายในงานจัดนิทรรศการภาพถ่ายวิถีชีวิตและอุปกรณ์ทำมาหากินดั้งเดิม เช่น ที่ดักหนู เครื่องชั่งน้ำหนัก และรองเท้าไม้ 
“การบวชป่าก็ดีอย่างหนึ่ง ชาวบ้านจะได้อยู่ดีมีสุข ทำมาหากินอย่างมีความสุข ไม่กังวล รู้สึกระแวง”
จันทร์ คุ้งลึงค์ ชาวบ้านวัย 61 ปี จากหมู่บ้านแม่อ่างขาง หมู่ 6 ซึ่งเดินทางมาร่วมงาน แบ่งปันความรู้สึก เขาบอกเล่าความกังวลต่อโครงการก่อสร้างเหมืองถ่านหินใกล้ชุมชน
ช่วงสองของงานบวชป่าเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับสถานการณ์โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ซึ่งบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 พื้นที่สัมปทนาบัตรนั้นมีเนื้อที่ขนาด 284 ไร่ 30 ตารางวา ครอบคลุมพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านหลายรายและคร่อมลำน้ำห้วยผาขาวซึ่งเป็นแหล่งน้ำทางการเกษตรหลักของชุมชน 
จันทร์เชื่อว่าโครงการจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ แม้การเข้ามาของธุรกิจเหมืองถ่านหินจะช่วยพัฒนาถนนในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นถนนลูกรัง ทำให้เดินทางสะดวกขึ้น แต่เมื่อคำนึงเรื่องฝุ่นจากการขนถ่านหินที่จะกระทบกับชาวบ้าน 6 หมู่บ้านที่อยู่บนเส้นถนนตัดผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่อาศัยอยู่ใกล้ถนน จันทร์เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะก่อผลกระทบต่อชุมชนมากกว่าผลดี
สนธยา แสงเพชร เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านถ่านหิน กรีนพีซ ประเทศไทย เผยว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินยังมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ แก่หมู่บ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น การชะล้างแร่ต้องใช้น้ำถึง 230,000 ลิตร/วัน เท่ากับปริมาณการใช้น้ำทั้งอำเภออมก๋อย จนอาจเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำกับชุมชน และการขุดแร่อาจดึงสารโลหะหนักขึ้นมาปนเปื้อนแหล่งน้ำทางการเกษตร ซึ่งลำน้ำห้วยผาขาวจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง 
โครงการเหมืองดังกล่าวยังคร่อมทับพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของชุมชนที่จัดกิจกรรมบวชป่า

“คำว่า ‘จิตวิญญาณ’ ไม่มีบันทึกในกฎหมาย แต่จิตวิญญาณคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดที่รัฐธรรมนูญต้องคุ้มครอง”
สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเข้ามามีส่วนช่วยชาวบ้านทำความเข้าใจกับกฎหมายกล่าว โดยมีล่ามแปลจากภาษาไทยเป็นภาษากะเหรี่ยง เขาเชื่อว่าโครงการเหมืองแร่อมก๋อยได้ละเมิดสิทธิคนในชุมชนหลายประการ เช่น สิทธิเบื้องต้นของคนในพื้นที่ที่จะรู้ข้อมูลโครงการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และสิทธิที่ชาวบ้านจะแสดงความคิดเห็น
สุมิตรชัย หัตถสาร อธิบายกฎหมายให้ชาวบ้านฟังในช่วงเวทีเสวนา /  สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ชุมชนได้ตั้งหลักหมุดเพื่อประกาศเชิงสัญลักษณ์ถึงพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชน 2 หมุด ได้แก่บริเวณป้ายบอกพื้นที่ป่าสงวนของกรมป่าไม้ และบริเวณป่าจิตวิญญาณที่จัดงาน โดยมีสัญลักษณ์หม้อดินเผา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “กะเบอะดิน” เนื่องจากสมัยก่อนชุมชนได้ใช้ดินหรือที่เรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า “กะเบอะ” ปั้นหม้อส่งขาย ชาวบ้านร่วมกันแถลงจุดยืนคัดค้านการสร้างเหมือง เพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน
ชาวบ้านแถลงจุดยืนไม่เอาเหมืองถ่านหิน อ่านแถลงการณ์โดยตัวแทนเยาวชน /  สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
บริเวณป้ายบอกพื้นที่ป่าสงวนของกรมป่าไม้ /  สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
หมุดประกาศพื้นที่จิตวิญญาณ /  สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช
ชาวบ้านห้วยม่วง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนหนึ่งได้เดินทางมาร่วมงานและส่งกำลังใจให้ชาวกะเบอะดิน โดยเล่าว่าชุมชนตนประสบปัญหาบริษัทเอกชนบุกรุกที่ทำกินคล้ายกันและล่าสุด 31 มกราคม ที่ผ่านมา ศาลรับตัดสินให้ย้ายออกจากพื้นที่ 
ปัจจุบัน โครงการก่อสร้างเหมืองอยู่ในขั้นตอนการจัดเวทีรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้งหลังจากเดือนกันยายนปีก่อน ชาวบ้านอมก๋อยนับสองพันคนได้แสดงพลังคัดค้าน เป็นผลให้กระทรวงอุตสาหกรรมเลื่อนการจัดเวทีออกไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad